อินโดนีเซียกับไทยผูกผันกันมาอย่างยาวนานนั้บตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 และสานสัมพันธ์ทางการทูตมาร่วม 72 ปี ด้วยการผสมผสานทางวัฒนธรรมตั้งแต่อาณาจักรโบราณนี้ นำไปสู่ไอเดียของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ในการโชว์วัฒนธรรมของตน พร้อมสอดแทรกความเป็นไทย ในงาน Indonesia Culture Night จัดขึ้นที่โรงละครสยามพิฆเนศ ของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา

งานครั้งนี้ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันชาติอินโดนีเซียและเพื่อเฉลิมฉลองวัฒนธรรมแห่งดินแดนที่หมู่เกาะที่ยิ่งใหญ่ การแสดงอาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง เหมือนกับอาหาร 3 มื้อ โดยการแสดงในช่วงแรกอย่าง กัมบยง การเต้นรำพื้นเมืองที่อ่อนช้อยจากจังหวัดชวากลางที่นับย้อนไปได้ถึงปลายศตวรรษที่ 18 และ บนโดยูโด ที่นำเสนอศิลปะการใช้กระบอง ต่อสู้ที่ฮึกเหิมของนักรบผ่านบทเพลง ทั้งสองอย่างนี้ อาจเป็น กูเด็ก ที่ทั้งเป็นรสชาติของการปลุกพลัง กลมกล่อมด้วยรสหวานจากขนุนและความเผ็ดจากพริก อาหารเช้าขึ้นชื่อในยอกยาการ์ตาหรือที่เรียกกันว่า ยกยา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งเกาะชวา

ส่วนความน่าสนใจในการแสดงส่วนที่ 2 คือการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีประจำชาติของ 2 ประเทศในการนำเสนอ ดังดุต (เพลงพื้นบ้าน) และเพลงลูกทุ่งจากจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้รับเชิญร่วมแสดงในฐานะเมืองแห่งเพลงลูกทุ่ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีนำคณะร้องเพลงรำวงเกี่ยวข้าวและเพลง อะเมซิ่งสุพรรณบุรี ที่เล่าถึงเสน่ห์เมืองสุพรรณ ต่อด้วยการแสดง อังกะลุง เครื่องดนตรีมรดกโลกและความภูมิใจของอินโดนีเซียที่แพร่มาถึงไทยจนกลายเป็นวัฒนธรรมร่วม โดยการแสดงในส่วนนี้ทำให้นึกถึง นาซิโกเร็ง (ข้าวผัด) หนึ่งในเมนูขึ้นชื่อที่สุดของอินโดนีเซีย ที่แนมด้วยน้ำพริกกะปิแทนที่จะเป็นซัมบัล น้ำพริกจิ้มดั้งเดิม เป็นมื้อกลางวันที่ได้รสชาติของ 2 วัฒนธรรมอย่างชัดเจน

...

การแสดงปิดคือ ละครเวทีเรื่องราวความรักและการต่อสู้ของหญิงสาวชาวปัตตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน) ที่ปกป้องอัตลักษณ์ของตนภายใต้การปกครองของดัตช์ สเมือน โซโตะ เบอตาวี (แกงเนื้อ ใส่กะทิ) ที่มีถิ่นกำเนิดในจาการ์ตา ตามด้วยการร้องเพลง ทะเลใจ ของท่านเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทยที่สานใจ 2 ชาติเป็นหนึ่ง เปรียบดั่งฝาแฝดอย่างขนมชั้นและ กูเวลาปิส (ขนมแป้งข้าวเจ้าคล้ายขนมชั้น) ที่เหนียวหนึบและหวานจับใจ

ทั้งนี้แล้ว อาหารทั้งหมดทั้ง 3 มื้อและของหวานดังที่ได้กล่าวเป็นการผสมผสานที่ลงตัว เฉกเช่นกับการแสดงทุกชุดที่เบื้องหลังไม่ได้มีแค่ความตั้งใจของนักแสดงและผู้จัด แต่เป็นความร่วมมือร่วมใจของอินโดนีเซียและไทยในการเป็นแม่ครัวพ่อครัวที่ปรุงทุกอย่างออกมากลมกล่อมจนทำให้อยากลองอีกครั้ง.