จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญาการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ ประจำ และรับส่งต่อทั่วไปกับ รพ.เอกชน 9 แห่ง ในพื้นที่ กทม. มีผลวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง และได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.เป็นต้นไปนั้น ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวมีประมาณ 2.2 แสนคน จำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง 2 หมื่นคน ผู้ป่วยที่มารับบริการปฐมภูมิเป็นประจำอีก 4,000 คน ยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบรับส่งต่ออีกประมาณ 6 แสนคน ซึ่งศักยภาพ รพ.สังกัด กทม.อยากรับดูแลไว้ทั้งหมด แต่หากรับมาจะมีผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยที่ครองเตียงอยู่ในขณะนี้ ทำให้ กทม.มีโควตารับผู้ป่วยส่งต่อจากกลุ่มนี้ได้ประมาณ 30% และกำลังพิจารณาขยายจำนวนรับเพิ่ม ปัจจุบัน กทม.มี รพ.ในสังกัด 12 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาอีก 73 แห่ง รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น อีกหลายร้อยแห่ง

ขณะเดียวกัน กทม.กำลังประสานกับ สปสช. เพื่อร่วมกันขยายหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิต่างๆ เช่น ชักชวนร้านยาร่วมโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นให้มากขึ้น จากที่เข้าร่วม 200 แห่ง หากมีร้านยาสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 1 เท่าตัว จะทำให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองได้ครอบคลุมมากขึ้น.