สสว.โชว์ผลงานช่วยเหลือ SME ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS ตามมาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" มียอดสมัครกว่า 2,000 ราย เดินหน้าเปิดเฟส 2 พร้อมเพิ่มหน่วยผู้ให้บริการทางธุรกิจ-ปรับหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมความต้องการผู้ประกอบการมากขึ้น

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.65 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า จากการที่ สสว.เปิดตัวมาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ Business Development Service ปี 2565 ภายใต้แนวคิดที่ต้องการช่วยผลักดันให้ SME ได้มีโอกาสเข้าถึงการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนายกระดับศักยภาพในด้านต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกบริการ ที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงสามารถเปรียบเทียบราคาบริการ และต่อรองราคาจากหน่วยงานต่างๆบนระบบ BDS ได้ด้วยตนเอง และ สสว.จะช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมด้วยช่วยจ่าย (Co-Payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท

...

จากการเปิดตัวในเฟสแรก สสว.ได้เปิดบริการใน 3 หมวด คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการ SME สมัครเข้าใช้งานบนระบบแล้วกว่า 2,000 ราย ได้รับอนุมัติยืนยันตัวตน จัดกลุ่มการอุดหนุน และเตรียมยื่นการพัฒนาแล้วกว่า 600 ราย และมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนาและอยู่ระหว่างการพัฒนากว่า 300 ราย ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการค้าส่งและค้าปลีก กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ยาและสมุนไพร และกลุ่มท่องเที่ยว นอกจากนี้พบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติยืนยันตัวตน และจัดกลุ่มการอุดหนุนจำนวน 600 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม (SE) มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจรายย่อย (Micro SME) และกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (SE+/ME) ตามลำดับ

ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนา และเริ่มดำเนินการพัฒนาแล้วกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่เลือกบริการด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ และบริการประเมินอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ (Shelf Life Evaluation) โดย สถาบันอาหาร, บริการตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหาร โดย บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด, บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, และบริการเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรองระบบมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ระบบบริหาร คุณภาพ (Quality Management System : QMS) โดย สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

สำหรับบริการในด้านการตลาดนั้น มีผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอการพัฒนาโดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจำหน่ายสินค้า CARE ASIA "Total Solutions for Health & Wellness" เมื่อ 1-4 กันยายน 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา โดยใช้บริการผ่านสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งจากการสรุปวงเงินที่ได้รับอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ สสว.ให้การอุดหนุนประมาณร้อยละ 80 คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 15 ล้านบาท โดยคาดว่าผู้ประกอบการ SME จะได้ประโยชน์จากการใช้บริการและเกิดผลลัพธ์เป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30 ล้านบาท

ทั้งนี้ นอกจากผลลัพธ์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว มาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันในการสร้างโอกาส และร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SME โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่ขึ้นทะเบียนบนระบบ BDS แล้วกว่า 90 หน่วยงาน และขึ้นบริการขึ้นบนระบบแล้วกว่า 120 บริการ

นายวีระพงศ์ กล่าวเสริมว่า สสว.ยังคงเดินหน้าในเฟสที่ 2 โดยนำข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการและมาปรับปรุง โดยทราบว่ามีผู้ประกอบการต้องการเข้าร่วมมาตรการอีกจำนวนมาก ดังนั้น สสว.จึงขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการไปจนถึงกันยายน 2566 และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME สามารถยื่นข้อเสนอการพัฒนาได้จนถึง 31 สิงหาคม 2566 รวมทั้งจะเร่งสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการธุรกิจ และเพิ่มบริการใหม่ๆ ให้มากขึ้น เช่น บริการของโรงงานต้นแบบ หรือ Prototype Plant จากอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ กลุ่ม Micro SME ที่จะสามารถเข้าไปใช้ในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในราคาต้นทุนการดำเนินงานไม่สูงและสามารถทำเป็นครั้งๆ ได้ หรือกลุ่ม SE และ SE+ สามารถใช้บริการทดลองเพื่อผลิตสินค้าหรือใช้บริการเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อทดสอบการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าและมาตรฐานสูงได้

...

สสว.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น เช่น จะเปิดให้ SME ที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2564 สามารถขอรับบริการได้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท สามารถขอรับบริการได้โดยแนบเอกสารรายรับ รายจ่าย และเอกสารการยืนยันสถานะการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ รวมไปถึงการเพิ่มผู้ประกอบการกลุ่ม ME ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้สามารถรับบริการได้ และจะได้รับวงเงินช่วยเหลืออุดหนุนเท่ากับกลุ่ม SE+ คือ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณ ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

นอกจากนี้ สสว.จะปรับปรุงการใช้งานในระบบ BDS ให้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงคู่มือ และคลิปสอนการใช้งานเพื่อสะดวกต่อการขอรับบริการของผู้ประกอบการ SME ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้เข้าถึงความต้องการของผู้ประกอบการ SME ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS โดยมาตรการ "SME ปัง ตังได้คืน" จะเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอการพัฒนาได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ หรือโทร 1301 หรือโทร 0-2038-5858 หรือศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือ OSS สสว.ในทุกจังหวัด ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

...