กรมวิชาการเกษตร เผยเวทีมะพร้าวโลกชมไทย ปั้นโมเดล GAP Monkey Free Plus สวนมะพร้าวไร้แรงงานลิง หนุนส่งออก 2 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 65 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวโครงการ GAP Monkey Free Plus (MFP) ในเวทีการประชุมมะพร้าวระดับโลก "Consultative Virtual Meeting on Thailand Proposal for GAP Monkey Free Plus" ซึ่งเป็นการประชุมที่ดำเนินการโดย International Coconut Community (ICC) มีนายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วม เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 65 ในการประชุมมีเลขาธิการ ICC กรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้มาตรฐาน MFP หรือ การไม่ใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) ในการเก็บผลผลิตมะพร้าว จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต อันเป็นผลการหารือระหว่างกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กับผู้ประกอบการมะพร้าวและเกษตรกร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวไทยส่งออก โดยในเวทีมีการแสดงความเห็นและชื่นชมสนับสนุน MFP
...
"การประชุม ICC กรมวิชาการเกษตรไทยได้นำเสนอแนวคิดการทำมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus เพื่อยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) ในกระบวนการผลิตและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพราะแต่ละปีใช้มะพร้าวกว่า 0.876 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 100 ล้านลูก/เดือน จากพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ดังนั้นการนำลิงมาใช้เก็บมะพร้าวเพื่อผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นไปไม่ได้ และเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตทั้งความเชื่อมั่นและความปลอดภัย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกันในการจัดทำตราสัญลักษณ์ Monkey Free Plus เพื่อใช้เป็นฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวส่งออก เพื่อยืนยันต่อผู้บริโภคว่าสินค้านี้ไม่ได้ใช้แรงงานของลิง เพื่อรักษาตลาดส่งออกปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท และปลายปี 2566 ประเทศไทยพร้อมจัดประชุมคณะกรรมการบริหารระดับรัฐมนตรี (ICC Session and Ministerial Meeting) กวก.จะเชิญชวนรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมสนับสนุนโครงการ GAP Monkey Free ด้วย" นายระพีภัทร์กล่าว
สำหรับมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus เป็นความร่วมมือของกวก.กับรัฐ เอกชน และสมาคม ต่างๆ อาทิ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย ในการกำหนดมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ข้อกำหนดมาตรฐาน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจ สมัครเข้ามารับการตรวจประเมินคาดว่าจะเริ่มได้ปลายปี 2565 โครงการนี้จะเป็นการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องต่อมะพร้าวไทยต่อสายตานานาชาติที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการเก็บมะพร้าวโดยลิงของไทยซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านของสังคมที่อยู่ด้วยกันมานาน และไม่ได้เข้าไปในระบบอุตสาหกรรม ทั้งนี้กวก.พร้อมนำสมาชิก ICC และ Third Party ร่วมลงพื้นที่นำร่องโครงการ GAP Monkey Free Plus ของไทยที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์และกระบี่ เป็นต้น
ปัจจุบันกวก.ได้สนับสนุนให้เกษตรกรใช้พันธุ์ปรับปรุงของกรม ซึ่งเป็นต้นเตี้ยให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง โดยขณะนี้กวก.พัฒนาได้มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 และลูกผสมสามทางชุมพร พันธุ์น้ำหอม พันธุ์สวีลูกผสม ลูกผสมกะทิพันธุ์ชุมพร 84-1 และ 84-2 ในปี 2565-67 มีแผนผลิตต้นพันธุ์ 208,726 ต้น จากยอดลงทะเบียนจอง ณ 22 ส.ค. 65 จำนวน 907,184 ต้น เกษตรกร 4,416 ราย ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่าปี 2564 ไทยนำเข้ามะพร้าวจำนวน 251,781 ตัน มูลค่า 5,149 ล้านบาท และส่งออก 646,188 ตัน มูลค่า 23,134 ล้านบาท.