ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศ รฟม.ล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ชี้เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ ผู้ว่าการ รฟม.ยืนยันเตรียมยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา ส่วนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกรอบใหม่ยังคงเดินหน้าต่อ

ที่ศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการรถฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้บีทีเอสซี ผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการลงทุนได้รับความเสียหาย
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯและเพิกถอนประกาศของ รฟม.ที่มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม.มีประกาศดังกล่าว

ศาลปกครองให้เหตุผลว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 3 ก.พ.64 การมีมติยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าวเพื่อช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่ปรากฏเพียงความเห็นของ รฟม.ในเรื่องนี้ว่าเอกชนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาและบีทีเอสซี ไม่มีความเสียหายจากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเหตุแห่งคดีพิพาทสิ้นสุดจะคืนซองข้อเสนอ หลักประกันซองและเงินค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอ เงินค่าซื้อเอกสาร คืนเอกชนทุกรายเท่านั้น ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับการชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม.ประกาศยกเลิกการประมูลโดยไม่เปิดโอกาสให้บีทีเอสซี หรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงหรือรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเสียก่อน ฟังไม่ได้ว่ามติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม. ในวันที่ 3 ก.พ.64 มีเหตุผลและความจำเป็นตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ถือเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯและประกาศของ รฟม.ดังกล่าว

...

ภายหลังมีคำพิพากษา นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส เปิดเผยว่า พอใจที่ศาลให้ความยุติธรรมมีมติยกเลิกการประกาศดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นบรรทัดฐานการประมูล เราต่อสู้โดยไม่รู้จะชนะหรือแพ้ แต่อยากให้เกิดการประมูลที่โปร่งใสตรวจสอบได้และเป็นธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องและฝ่ายกฎหมายก่อน นอกจากคดีดังกล่าวบีทีเอสซียังฟ้องร้องคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 และ รฟม.ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลนัดวันที่ 27 ก.ย.เพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลหรือไม่

อีกด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า รฟม.อยู่ระหว่างรายงานกระทรวงคมนาคมเพื่อทราบและเร่งคัดคำพิพากษา เพื่อตรวจสอบรายละเอียดและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย หากมีประเด็นกฎหมายเพิ่มเติมสามารถขยายเวลาในการอุทธรณ์ได้ ส่วนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกรอบใหม่ ยืนยันกระบวนการจะเดินหน้าต่อเนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดและ รฟม.ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ สำหรับการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนฯรถไฟฟ้าสายสีส้มกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 27 ก.ค.นี้

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวสั้นๆว่า ได้รับรายงานจากผู้ว่าการ รฟม.แล้ว ส่วนขั้นตอนดำเนินการต่อไป กระทรวงคมนาคมจะมีนโยบายอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการหรือให้ความเห็นอะไรได้ เพราะต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการส่งมาก่อน