ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนมติล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งแรกของคณะกก.คัดเลือกฯ และประกาศยกเลิกการประมูลของ รฟม.ชี้ใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 ก.ค. 2565 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.มีประกาศดังกล่าว ตามที่ ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.กรณีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ เป็นเหตุให้ บีทีเอส ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ศาลปกครองให้เหตุผลว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 3 ก.พ. 2564 ว่า การมีมติยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าวเพื่อช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แต่ปรากฏเพียงความเห็นของ รฟม. ในเรื่องนี้ว่า เอกชนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา และบีทีเอสไม่มีความเสียหายใดๆ จากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว

...

เนื่องจากเหตุแห่งคดีพิพาทสิ้นสุด และจะคืนซองข้อเสนอ หลักประกันซอง และเงินค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอ เงินค่าซื้อเอกสาร คืนเอกชนทุกรายเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับการความชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

ดังนั้นการที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ประกาศยกเลิกการประมูลโดยไม่เปิดให้ บีทีเอส หรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพื่อมาช่วยลด หรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเสียก่อน จึงฟังไม่ได้ว่า มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม. ในวันที่ 3 ก.พ. 2564 มีเหตุผลและความจำเป็น ตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ถือเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เหตุมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม.ดังกล่าว

ต่อมา นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กล่าวว่า การที่ศาลปกครองเพิกถอนประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกครั้งที่แล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเราก็พึงพอใจที่ศาลให้ความยุติธรรมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีมติยกเลิกการประกาศยกเลิกดังกล่าว

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายกฎหมายก่อนว่าเราจะทำอะไรต่อหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคดีที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งศาลนัดวันที่ 27 ก.ย. 65 นี้ เพื่อพิจารณาว่าคดีมีมูลหรือไม่ อย่างไรก็ตามวันนี้ก็ดีใจ ถือเป็นเรื่องที่ดี และถือเป็นบรรทัดฐานการประมูลของบ้านเรา ซึ่งเราต่อสู้โดยที่ไม่รู้ว่าจะชนะหรือแพ้ แต่เราอยากให้เกิดการประมูลที่โปร่งใสตรวจสอบได้และเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

เมื่อถามว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องไปดูฝั่ง รฟม.เรื่องการประมูลวันที่ 27 ก.ค.นี้ เราก็มีคำถามไปเยอะ ซึ่งต้องรอว่าพรุ่งนี้ รฟม.จะตอบคำถามอย่างไร เพราะมีอะไรที่เราคิดว่าอาจจะไม่ชัดเจนหลายอย่าง รวมถึงคำพิพากษาศาลวันนี้ก็อาจจะมีผลด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าทางฝั่ง รฟม.คงต้องไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อเช่นกัน ซึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจของ รฟม. ส่วนหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่อาจจะมีการเปลี่ยนเรื่องคุณสมบัติของผู้ก่อสร้างงานโยธา ซึ่งแต่เดิมให้ใช้ผลงานในต่างประเทศได้แต่ครั้งนี้ไม่ได้ ทำให้บริษัท ซิโน-ไทย ที่เป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับเรามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้าร่วมประมูล แต่ครั้งนี้กลับมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ซึ่งก็ต้องหาบริษัทอื่นมาร่วมด้วย นอกจากนั้นยังมีเรื่องการกำหนดประสบการณ์ผู้เดินรถ ซึ่งครั้งที่แล้วมีการกำหนดให้ผู้เดินรถต้องมีประสบการณ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับกันคือสามารถใช้ผู้เดินรถจากต่างประเทศได้ ซึ่งก็ต้องรอดูความชัดเจนจาก รฟม.อีกครั้งหนึ่ง

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กล่าวด้วยว่า การที่ศาลปกครองเพิกถอนประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ก็แสดงว่าการคัดเลือกครั้งที่แล้วยังอยู่ บวกกับศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตนเข้าใจว่าการประมูลครั้งล่าสุดก็ยังอยู่ แต่คงจะต้องไปดูคำพิพากษาโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง.