นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (บอร์ดเคที) เปิดเผยว่า จากการประชุมบอร์ดวันที่ 30 มิ.ย.65 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อสัญญาต่างๆ ที่เคทีได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส)ในการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของสัญญาสัมปทานนั้นเป็นไปตามข้อกฎหมายถูกต้อง ไม่มีประเด็นข้อสงสัย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อการทำสัญญาส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งจ้างเดินรถผูกพันเป็นระยะเวลายาวนาน 30 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2585 แต่ที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีถึงปัจจุบันในปี 2565 พบว่า มีข้อเท็จจริงหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น โรคโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขต่างๆที่เคยตกลงหรือเข้าใจในข้อสัญญานั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ควรจะมีการทบทวนเรื่องตัวเลขค่าจ้าง หรือปรับลดระยะเวลาสัมปทานจากเดิม 30 ปี ให้หมดพร้อมกับสัญญาสัมปทานหลักที่จะหมดในปี 2572 เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินการอาจจะสร้างความไม่พึงพอใจให้กับเอกชนนำไปสู่การฟ้องร้อง ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญสูงสุดคือ ประโยชน์สาธารณะร่วมกัน

นายธงทองกล่าวว่า สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสถานีหมอชิต-คูคต และสถานีแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ซึ่งออกไปนอกพื้นที่ กทม. โดยมีเส้นทางไปถึงจังหวัดปทุมธานีและสมุทร ปราการ ถือเป็นเรื่องระดับนโยบายที่เกินขอบเขตหน้าที่ของ กทม.และเคที ซึ่งเดิมส่วนต่อขยายส่วนนี้ดำเนินการโดย รฟม. ต่อมามีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดย รฟม.กับบีทีเอส ไม่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวก คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นจึงได้โยกรถไฟฟ้าส่วนนี้มาให้ กทม. เนื่องจากโดยสภาพเป็นโครงสร้างในเส้นทางสายเดียวกัน เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้สะดวก ซึ่ง กทม.ก็ได้รับโครงสร้างรถไฟฟ้ามาพร้อมกับหนี้สิ้น ในเรื่องนี้ก็ได้ให้โจทย์กับทางบอร์ดไปเพื่อไปดูตัวเลขต่างๆ ให้ตกผลึก มีหลายแนวทาง อาจจะส่งคืนให้กับรัฐ หรือให้รัฐสนับสนุนงบชำระหนี้ จะมีการประชุมหารืออีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค.นี้ โดยเชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เคที เข้ามารับฟังรายละเอียดจากบอร์ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมาย ด้านการเงิน ด้านวิศวกรรม เพื่อสอบถามราย ละเอียดต่างๆโดยตรง.

...