อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ เปิดเป้าหมายการทำงานซึ่งจะผลักดันงานด้านวิชาการเกษตรเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยให้เป็นเกษตรเพิ่มมูลค่าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 65 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายการทำงานไว้ว่าจะใช้งานด้านวิชาการเกษตร ทำให้กรมกลับมาเป็นหมายเลข 1 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง โดยการผลักดันให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการประเทศในทุกระดับ ในภาวะงบประมาณมีจำกัดก็จะพยายามสนับสนุนเต็มที่หากว่าเป็นเรื่องที่ดีและตอบโจทย์ดังที่กล่าว
“งานวิชาการ-งานวิจัยคือพลังที่จะขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศให้ดีขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคประชาชนและตลาด เพราะการตลาดนำการผลิต เช่น ปัจจุบันจะเห็นว่า พืชกัญชา กัญชง กระท่อม ทั่วโลกขานรับเพราะมีอะไรมากมายในพืช 3 ตัวนี้โดยเฉพาะทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ เป็นต้น รวมถึงอนาคตที่อาจพัฒนาต่อยอดไปได้อีกหลากหลาย เมื่อปลดล็อกแล้วก็เดินหน้าศึกษาเต็มที่ทั้งการปลูกในทุกสภาพพื้นที่ ทุกระบบการปลูก การรวบรวมพันธุ์ รวมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ และคุ้มครองพันธุ์ของประเทศ โดยจะมีการปรับปรุงกฎหมายของกรมหลายฉบับ นอกจากนั้นจะทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาอีกด้วย” นายระพีภัทร์ กล่าว
...
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ดังนั้นงานวิจัยของกรมที่ให้น้ำหนักในการพัฒนาพืชเศรษฐกิจเดิมทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทุเรียน ก็จะมีพืชใหม่ๆ เหล่านี้เข้าไปร่วมด้วย ควบคู่กับการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร ที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยเกษตรกรในด้านป้องกันและกำจัดโรคพืช โรคแมลงศัตรูพืช เป็นต้น เหมือนกรณี โรคใบยางพาราร่วงที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันก็อยู่ระหว่างหารือกับการยางแห่งประเทศไทยในการหางบวิจัยพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักรที่จะสามารถช่วยเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาโรคดังกล่าว
สำหรับความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะบางเรื่องต้องใช้เทคโนโลยีที่กรมไม่มี เช่น ล่าสุดได้หารือเบื้องต้นกับสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ในการพัฒนาระบบการติดตามแปลงเกษตรเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนทำงาน เช่น ทุเรียน พืชเศรษฐกิจสำคัญ เห็นตรงกันว่าสามารถใช้ดาวเทียมตรวจสอบอายุต้นทุเรียนเพื่อนำมาวางแผนการปลูกเพิ่ม หรืออายุต้น หรือการติดตามระยะออกดอกเพื่อคำนวณผลผลิตที่จะออกในฤดูนั้นๆ และอนาคตอาจใช้กำหนดจุดโรงคัดบรรจุหรือล้งที่เป็น GMP หรือ GMP Plus ได้อีกด้วย ลงไปถึงระดับแปลง GAP เรียกว่าตลอดสายการผลิตทุเรียน หากสำเร็จจะเป็นชุดตัวอย่างสำหรับพืชสำคัญอื่นๆ ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด รวมไปถึงการหาพันธมิตรมาศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ของพืชที่จะสอดคล้องกับนโยบาย Agricultural Biotechnology Perspective Towards BCG model การพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนั้นกรมได้เตรียมดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะใช้พื้นที่การเกษตรในการกักเก็บคาร์บอน เป็นคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา ซึ่งก่อนหน้านี้กรมได้เคยมีการศึกษาในเรื่องนี้ไว้กรณีศึกษาชุดดินโพนพิสัยและชุดดินจักรราช ซึ่งพบว่าสวนยางพาราสามารถกักไว้ได้อย่างน่าพอใจโดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการศึกษาวิจัยปริมาณคาร์บอนเครดิตในพืชแต่ละชนิดเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรหรือโอกาสทางการค้าของประเทศ โดยอาจเริ่มในพื้นที่สวนยางพารานำร่องก่อนขยับไปพืชอื่น.