"ชัชชาติ" หารือ ประเด็นเปิดหน้ากาก หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และอัตราการครองเตียงลดลง โดยโยน ศบค.กทม.พิจารณา ก่อนชง ศบค.ใหญ่ ไฟเขียว โดยยืนมาตรการป้องกันเข้มข้นควบคู่โรคฝีดาษลิง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 มิ.ย. 2565 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล น.ส.ทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ร่วมประชุม
นายชัชชาติ กล่าวภายหลังว่า มีวาระการประชุม 4 เรื่อง เรื่องแรกโควิด ซึ่งจากการดูตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ อัตราการครองเตียงพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งคิดว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว จึงได้หารือเรื่องการถอดหน้ากาก แต่ต้องรอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร ศบค.กทม. พิจารณาก่อน เสนอไปยัง ศบค.ใหญ่ เพื่อให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ฝีดาษลิง ซึ่งเป็นโรคติดต่อ แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยในเมืองไทย จากกรณีวานนี้ (5 มิ.ย.) ที่มีการรวมตัวกัน มีหลายคนกังวลกันการติดต่อ ยืนยันว่าการติดต่อคนละรูปแบบกัน อย่างไรก็ตามยังยึดมาตรการการป้องกันทั้งหมดอย่างเข้มข้นต่อไป
2.เรื่องงบประมาณ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) พิจาณาให้ความเห็นชอบ โดยนโยบาย 214 ข้อ ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครที่กำหนดอยู่ยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ดังนั้นจึงจะปรับแนวทางการทำงานให้ชัดเจนขึ้น
3.เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปทำการสำรวจจุดอ่อนและช่องโหว่ของการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไข ก่อนรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นแผนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใน 1 สัปดาห์ ตามนโยบายงบประมาณฐานศูนย์ Zero-Based Budgeting โดยได้เชิญอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกันจะทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือบางโครงการที่เร่งรัดในการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ผลงานที่ทำได้นั้น กลับไม่มีความคืบหน้า เช่น การปรับปรุงสวนลุมพินี ปรับปรุงภูมิทัศน์สวนคลองช่องนนทรี ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวแบ่งการก่อสร้างออกเป็นหลายเฟส ดังนั้นเฟสใดที่ดำเนินการไปแล้ว ก็จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จ ส่วนเฟสที่เหลือจะต้องไปทบทวนความคุ้มค่าและความเหมาะสมกับการใช้งบประมาณอีกครั้ง
...
และ 4.เรื่องการบำบัดน้ำเสีย พบว่ามีหลายชุมชนปล่อยน้ำเสียลงคลอง ดังนั้นจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปสำรวจเพื่อจัดทำแผนบำบัดน้ำเสียในชุมชน ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จถึง 11 ปี และใช้งบหลายหมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วที่คลองลาดพร้าว ดังนั้นจึงให้ไปทำแผนให้ชัดเจนที่คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ ด้วยว่าจะทำกี่ชุมชนและกี่จุด เพื่อสรุป.