ประกาศ กทม. ฉบับที่ 53 ผ่อนปรนเปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่ผ่านมาตรวจมาตรฐาน นั่งดื่มถึงเที่ยงคืน เริ่ม 1 มิ.ย. 65 ฝ่าฝืนอาจมีโทษ ทั้งจำและปรับ
วันที่ 31 พ.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ได้ลงนามประกาศ กรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 53) ระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่คลี่คลายลง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการระบาด และด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลงเป็นลำดับ จนสามารถผ่อนปรน ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำรงชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกยังคงระดับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ที่ยังคงจำเป็นต้องคงไว้ ซึ่งมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งฝ่ายสาธารณสุขได้ดำเนินการตามแผนงานเพื่อรองรับนโยบายการเปิดประเทศ และเตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านที่จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) อันจะเป็นผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข และการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับสู่สภาวะปกติมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับแนวทางของนานาประเทศ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นสมควรพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2565 จึงมีคำสั่งให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน ยกเว้นสถานที่ที่ผ่านการตรวจมาตรฐาน ความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้ว และได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่ สามารถเปิดให้บริการได้
โดยผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ต้องจัดเตรียมสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-Free Setting) และต้องกำกับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการและผู้เข้ารับบริการให้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ราชการกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ ดังนี้
1. การเปิดให้บริการ การจำหน่ายและการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้าน สามารถทำได้ไม่เกินเวลา 24.00 น. โดยงดกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความแออัด
2. ผู้ประกอบการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการต้องดำเนินการจัดให้ผู้ให้บริการและบุคลากรในความรับผิดชอบได้รับการฉีดวัคนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) แล้ว และหากเป็นการบริการลักษณะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ จะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยในทุกสัปดาห์ให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS Cov-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเอง (ชุดตรวจ ATK) รวมทั้งประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านแอปพลิเคชันไทยเซฟไทย (Thai Save Thai) ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย
3. ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการต้องดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ใช้บริการเพื่อความปลอดภัย โดยจะให้บริการได้เฉพาะผู้ใช้บริการที่แสดงหลักฐานว่าได้รับวัคชีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดและได้รับวัคซึนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) แล้วเท่านั้น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี มีข้อแนะนำให้ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด ที่จะมีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงสูง (กลุ่ม 608) เลี่ยงการเข้าใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย ตัดผม แต่งผม ร้านทำเล็บ ร้านสัก สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา นวดแผนไทย สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ โรมมหรสพ โรงละคร กาารแสดงพื้นบ้าน หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
กรณีนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมกิจการ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังต้องดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 52) ลงวันที่ 30 เมษายน 2565 เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับประกาศนี้
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ต.2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิด 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
...