ปัญหาบัณฑิตตกงานเป็นปัญหาคลาสสิกของแวดวงการศึกษาไทย ยิ่งมาเจอกระแสดิสรัปชันทั้งด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค ผสมกับชีวิตวิถีใหม่ยุคโควิด ทำให้ธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมต้องปรับตัวครั้งใหญ่ รวมถึงสถาบันการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการสอนในหลากหลายมิติ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หรือเป็นผู้ประกอบการเองตามเทรนด์โลกปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่วางเป้าหมายชัดเจนคือ นักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้วจะต้องมีงานทำ รวมถึงพันธกิจสำคัญในการ สร้างบัณฑิตให้ออกมาเป็นผู้ประกอบการ

จากสถิติภาวะการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จาก มทร.รัตนโกสินทร์ ปีการศึกษา 2561-2563 พบว่า ในปีการศึกษา 2561 จำนวนผู้สำเร็จการศึกษามี 2,677 คน อัตราผู้ตอบแบบสำรวจภาวการณ์มีงานทำ อยู่ที่ร้อยละ 93.63 อัตราการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา (ภายใน 1 ปีหลังจบการศึกษา) อยู่ที่ร้อยละ 88.14 อัตราผู้มีงานทำที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงาน ก.พ. อยู่ที่ร้อยละ 71.06 และ อัตราผู้ประกอบธุรกิจอิสระ/เป็นเจ้าของกิจการ/สร้างงานด้วยตนเอง มีร้อยละ 36.67

ปีการศึกษา 2562 จำนวนผู้สำเร็จการศึกษามี 2,608 คน อัตราผู้ตอบแบบสำรวจภาวการณ์มีงานทำ อยู่ที่ร้อยละ 97.35 อัตราการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา อยู่ที่ร้อยละ 87.05 อัตราผู้มีงานทำที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงาน ก.พ. อยู่ที่ร้อยละ 70.86 และ อัตราผู้ประกอบธุรกิจอิสระ/เป็นเจ้าของกิจการ/สร้างงานด้วยตนเอง มีร้อยละ 25.43

ปีการศึกษา 2563 จำนวนผู้สำเร็จการศึกษามี 1,984 คน อัตราผู้ตอบแบบสำรวจภาวการณ์มีงานทำ อยู่ที่ร้อยละ 88.89 อัตราการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา อยู่ที่ร้อยละ 85.20 อัตราผู้มีงานทำที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงาน ก.พ. อยู่ที่ร้อยละ 70.04 และอัตราผู้ประกอบธุรกิจอิสระ/เป็นเจ้าของกิจการ/สร้างงานด้วยตนเอง มีร้อยละ 28.75

...

ส่วนปีการศึกษา 2564 มีการเก็บข้อมูลเชิงลึก พบว่า มหาวิทยาลัยฯ ผลิตบัณฑิตที่มีลักษณะเป็นนวัตกรนักปฏิบัติได้ร้อยละ 85.76 บัณฑิตที่มีคุณสมบัติเป็นที่พึงประสงค์ ร้อยละ 91.80 บัณฑิตที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่าเงินเดือนมาตรฐาน ร้อยละ 59.55 ผลิตนักศึกษาที่คว้ารางวัลในการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติได้ 20 รางวัล จัดทำงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์ มีคุณค่าต่อวงวิชาการในระดับชาติและนานาชาติ 75 รางวัล

รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ เผยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับการเป็น Smart Entrepreneur University เน้นการปฏิบัติ 70% ทฤษฎี 30% ที่น่าสนใจคือ ความหลากหลายของสาขาวิชาที่ได้ออกแบบหลักสูตรเอาไว้ว่า ทุกสาขาต้องเรียนวิชาการสร้างผู้ประกอบการใหม่ มุ่งสอนทั้งด้านการบริหารการจัดการ การตลาด การเงินการบัญชี และทุกศาสตร์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาที่จบไปแล้วนำความรู้ไปทำธุรกิจเองได้

นอกจากนี้ มทร.รัตนโกสินทร์ยังได้ ทำงานวิจัยและบริการวิชาการแก่ชุมชน หลายโครงการ อาทิ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประกอบอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรและวัสดุเหลือใช้ เช่น การผลิตอิฐบล็อกจากเถ้าแกลบที่เหลือจากการทำเชื้อเพลิง ในพื้นที่ ต.ขุนแก้ว จ.นครปฐม หรือโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ใช้เทคโนโลยี AR สร้างพิพิธภัณฑ์มีชีวิต “หนังใหญ่ วัดขนอน” เพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

เรียกได้ว่า เรียนทฤษฎี ฝึกปฏิบัติ และมีกิจกรรมเสริมประสบการณ์ครบวงจร.

ลมกรด