ปฏิเสธไม่ได้ว่านับวัน “ปัญหาการคอร์รัปชัน” อันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์วนเวียนอยู่กับเรื่องการทุจริต ติดสินบน รับเงินใต้โต๊ะ ยังคงปรากฏหยั่งรากลึกแทรกซึมในกลไกราชการไทยอันเป็นปัญหาเรื้อรังมาช้านาน?

กระทั่งแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันไปแล้วด้วยซ้ำ “คนไทยบางส่วน” เริ่มคุ้นเคยมองเป็นเรื่องปกติจนยอมรับที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวก สิทธิพิเศษ หรือแลกกับการได้รับใบอนุญาตง่ายขึ้น ส่วนผลตามมาคือ “ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ” มักไม่ได้รับบริการอย่างเป็นธรรมที่ควรจะเป็นอยู่ทุกวันนี้

อันเป็นเสมือนภัยเลวร้าย “ถ่วงความก้าวหน้าการพัฒนาประเทศ” สร้างความเสื่อมเสียในทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ควรต้องรีบกำจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไปโดยเร็วที่สุด

ในช่วงใกล้ถึงโค้งสุดท้าย “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ที่ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2565 ก็มีเสียงสะท้อนจาก “คนกรุงเทพฯไม่น้อยต้องการให้ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” เน้นนโยบายขจัดปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงาน กทม.ทุกระดับอย่างจริงจังให้หมดไปจากมหานครแห่งนี้

...

ด้วยเหตุจาก “ประชาชน พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ” มักกล่าวอ้างร้องเรียนถูกเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบมาหลายยุคหลายสมัยจนกลายเป็น “อุปสรรคการพัฒนา กทม.” เพราะงบประมาณถูกใช้ไม่คุ้มค่า สูญเสียไปกับการคอร์รัปชันนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT บอกว่า

ตลอดเวลา 10 ปีมานี้ ACT ได้รับการร้องเรียนจากภาคประชาชน คนทำมาค้าขาย และนักธุรกิจ เกี่ยวกับการถูกเรียกรับสินบน หรือคอร์รัปชันในกรุงเทพฯมาต่อเนื่อง อย่างเช่นกรณี “คน กทม.มากกว่า97%” เผชิญการถูกรีดไถค่าออกใบอนุญาตอนุมัติในการสร้าง ต่อเติมบ้าน ร้านค้า อาคารพาณิชย์ หมู่บ้านจัดสรร คอนโด

เพราะด้วย “อำนาจ กทม.” สามารถออกใบอนุญาตอนุมัติมากกว่า 227 รายการ ทำให้ช่วงหลายปีมานี้ ACT ได้รับคำร้องเรียนการใช้อำนาจโดยมิชอบของข้าราชการบางคนอยู่ตลอด

คราวนั้น ACT เคยเชิญชวน กทม.ร่วมการแก้ปัญหาด้วย “โครงการใบอนุญาตยิ้ม” กรณีขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 300 ตร.ม. ออกใบอนุญาตได้ไม่เกิน 30 วันแล้ว “ผู้ยื่นขอ” ติดตามความคืบหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่น่าเสียดายโครงการนี้เดินไปได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะเงียบหายไป

อีกทั้งมีข้อมูล “การร้องเรียนเกี่ยวกับเรียกรับประโยชน์โดยมิชอบ” จากผู้ประกอบการแลกการทำผิดหรือการจ่ายภาษีน้อยลง เช่น จ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่าเป็นจริง รวมถึงการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง และการให้สิทธิ์ หรือสัมปทานแก่เอกชน เช่น คดีรถ-เรือดับเพลิง และประดับไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท

หนำซ้ำยังมีกรณีข่าวอื้อฉาว เช่น สัมปทานรถไฟฟ้า ค่าดูแลสวนสาธารณะ การจัดอีเวนต์โดยส่วนกลาง สนง.เขต แล้วมีการร้องเรียนการใช้อำนาจในทางมิชอบอีกมากมาย เช่น กรณีโรงกำจัดขยะและผลิตพลังงานไฟฟ้าหนองแขม-อ่อนนุช รวมถึงการปล่อยให้เอกชนสร้างคอนโดหรูเปิดใช้ไม่ได้ ที่ซอยอโศก และซอยร่วมฤดี

สิ่งนี้คือตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า “การร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันใน กทม.” กระทบต่อประชาชนมีมายาวนานกลับไม่เคยได้รับการแก้ไข ทำให้มีการพูดเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในหน่วยงานสังกัด กทม.แล้วมีปัญหาการร้องเรียนกันอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ลดน้อยถอยลงเลยด้วยซ้ำ

ประเด็นน่าจับตาต่อข้อร้องเรียน “กรณีใช้งบประมาณสุ่มเสี่ยงคอร์รัปชัน หรือใช้เงินไม่เกิดความคุ้มค่า” อันมีโครงการมากมาย อย่างเช่น การลงทุนสร้างตลาดน้ำ 14 แห่ง ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาไม่รู้ว่าหมดเงินไปเท่าไหร่ แต่ทุกวันนี้เห็นเพียงที่คลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษมที่เปิดดำเนินการอยู่เท่านั้น

...

ถัดมาการจัดซื้อเครื่องดนตรีราคาแพงมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แจกจ่ายไปตามโรงเรียน แต่ขาดครูดนตรีเฉพาะทาง อย่างเช่น “เปียโนมีการใช้งานไม่คุ้มค่าหรือไม่” ก่อนขายออกเป็นของใช้แล้วในราคาถูกมาก

ทั้งการจัดทำสัญญาณไฟเพื่อคนข้ามถนน 550 จุด ปัจจุบันเหลือใช้งาน 266 จุด จนเกิดกรณี “รถชนคนข้ามทางม้าลาย” กลายเป็นสังคมตั้งคำถามทำไม กทม.ไม่สร้างสัญญาณไฟ ต่อมาคือโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด

ใช้งบมากกว่า 2,500 ล้านบาท ใน 106 โครงการ การซ่อมบำรุงรถ-เรือดับเพลิง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 200 ล้านลิตร/ปี

ข้อสังเกตปรากฏพบว่า “วิธีการทำงานของ กทม.” มักมีหลายอย่างสุ่มเสี่ยงไม่โปร่งใส มีโอกาสเกิดคอร์รัปชันได้ง่าย เช่น โครงการมักมีทั้ง

จัดซื้อโดยส่วนกลาง สนง.เขต และหน่วยงานเอง แล้ววิธีใช้เงินก็แปลกมีทั้งใช้งบประมาณประจำปี งบกลาง แต่ไม่ปรากฏในแผนงาน หรืองบประจำปีที่ต้องเสนอต่อ สภา กทม.

ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งการจัดซื้อจำนวนมากตรวจไม่พบในระบบ GF-MIS ของกรมบัญชีกลาง มีการบันทึกรายการจัดซื้อเป็นชื่อหน่วยงานแทนชื่อโครงการและการแสดงรายการที่จัดซื้อมีการตั้งชื่อโครงการหลากหลาย ตั้งแบบครอบจักรวาล “แต่ขาดรายละเอียด” ทำให้ยากต่อการจัดหมวดหมู่ และการตรวจสอบตามมา

...

ประการสำคัญ “กทม.มีอำนาจและงบประมาณมหาศาลในการใช้พัฒนาพื้นที่” แต่ด้วยปัญหาที่มักกล่าวอ้างกันว่าผู้ปฏิบัติบางคนอาจใช้เวลาใช้อำนาจหน้าที่ไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตัวเอง? หรือส่งส่วยให้ผู้ใหญ่บางท่าน? ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันฉุดรั้งการพัฒนา กทม.ไม่อาจขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้เท่าที่ควรหรือไม่

เช่นนี้ถ้าหากว่า “ไม่แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแล้วไซร้” แม้มีงบประมาณมหาศาลเพียงใดก็มักจะถูกละลายหายไปเสียหมด แล้วยังเสียเวลาเสียโอกาสต่อการพัฒนากลายเป็นเมืองล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านก็ได้

...

ฉะนั้นแล้ว “คนไทยไม่ควรยอมทนให้การทุจริตคอร์รัปชัน” มีที่ยืนอยู่ในสังคมไทยอีกต่อไป

สิ่งที่น่าเหนื่อยใจ “ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” พูดแต่เรื่องความสุขสบายอยู่ดีกินดีที่มองข้าม “การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน” อันเป็นตัวฉุดการพัฒนา กทม. ดังนั้นถ้า “ตัวผู้บริหาร” ประกาศแสดงจุดยืนชัดเจนว่า “ไม่รับส่วย-สินบนแล้วไซร้” ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะไม่มีใครกล้าเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบเช่นกัน

แล้วจะมุ่งเน้นหันมาทำหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวก เมื่อประชาชนใช้บริการได้รับบริการเท่าเทียมกัน โดยไม่เรียกร้องสินบนเงินใต้โต๊ะไม่สร้างภาระจนประชาชนเสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพ

เพราะปัจจุบันนี้ “คน กทม.” ต้องอดทนกับสภาพรถติด รถเมล์แย่ ทางเท้าพัง และถูกรุกล้ำ ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ รถไฟฟ้าค่าโดยสารแพง แล้วนับวันคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยก็แย่ลงเรื่อยๆ ด้วยงบประมาณอาจถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า สูญเสียไปจากคอร์รัปชันนี้หรือไม่

อยากเสนออย่างนี้ว่า “กทม.บริหารแบบรัฐวิสาหกิจ” จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีมาตรการเปิดเผยผลการดำเนินงานโดย “ผู้บริหาร” จะส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือผู้ถือหุ้นรับทราบเสมอ กล่าวคือ “คน กทม.” เปรียบเหมือนผู้ถือหุ้นที่ “ผู้บริหาร” มีหน้าที่รายงานผลการบริหารให้ผู้ถือหุ้นอันเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกระทำด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับ “เมืองใหญ่ในต่างประเทศ” ในการเริ่มจัดทำงบประมาณมักใช้หลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะ

แสดงความคิดเห็นจัดทำงบประมาณได้เสมอ แล้วมีระบบแสดงข้อมูลการใช้งบประมาณ ด้วยการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบให้ทุกคนตรวจสอบได้ด้วยซ้ำ

สุดท้ายแล้ว “เมื่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้สำเร็จ” เมืองหลวงของประเทศก็จะได้รับการบริหารจัดการที่ดีโดยมืออาชีพ เพื่อให้เกิดการบริการ และการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องมีคุณภาพ กล่าวคือ “ความปลอดภัย” ทั้งทางเท้าปลอดภัย ปลอดจากการโจรกรรม สัญญาณไฟเพื่อข้ามถนนปลอดภัยก็จะดีตามมา

ส่วนคุณภาพชีวิตการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ดี สวนสาธารณะ โรงพยาบาล และการดูแลด้านอนามัยชุมชน และแหล่งบริการ ไฟแสงสว่างตามทางสาธารณะ แก้ปัญหาน้ำเน่า-น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ย้ำว่า “การพัฒนาคุณภาพ ความปลอดภัย และสะดวกสบายให้คนกรุงเทพฯ” ต้องชี้วิธีการปราบคอร์รัปชันที่ฉุดรั้งกลไกระบบอยู่นี้ก่อน...

คงฝากความหวังไว้กับ “ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” แก้ปัญหานี้ให้ กทม.ไปต่อได้เสียที.