รมว.ยุติธรรม ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับชาตินัดแรก หลังไทยเป็นสมาชิก HCCH กำหนดยุทธศาสตร์ท่าทีเจรจาผลประโยชน์หลักของประเทศ ศึกษาแนวทางประเทศอื่น นำมาประยุกต์ใช้ พร้อมหาวิธีการเข้าสู่ภาคีอื่นๆ ต่อไป

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตนได้ประชุมคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮก ว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล (HCCH) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก โดยมี ศาสตราจารย์วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางวิลาวรรณ มังคละธนกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมการประชุม ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติฯเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 โดยมีหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบายในภาพรวม เกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลังไทยเข้าเป็นสมาชิก HCCH กำหนดยุทธศาสตร์และท่าทีในการเจรจาประเด็นต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์หลักของประเทศ

...

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน HCCH มีอนุสัญญา 37 ฉบับ และ 2 พิธีสาร โดยครอบคลุมกฎหมาย 3 ด้าน คือ 1.กฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยครอบครัวและการคุ้มครองเด็ก 2.ความร่วมมือด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และการดำเนินคดีข้ามชาติ และ 3.กฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยการพาณิชย์และการเงิน โดยไทยเป็นภาคอนุสัญญาแล้ว 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาว่าด้วยลักษณะทางแพ่งในการลักพาตัวเด็กข้ามชาติ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและความร่วมมือ เรื่องการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมเห็นว่าประเทศไทยสามารถใช้โอกาสนี้ เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงร่วมถ่ายทอดพัฒนาการเชิงบวกของไทยต่อเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ในวันที่ 28 ก.พ.-4 มี.ค.จะมีการประชุมสภาที่ปรึกษาด้านกิจการและนโยบาย ของ HCCH ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ไทยเข้าร่วมในฐานะสมาชิก

"การเข้าร่วม HCCH ในครั้งนี้ถือว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ใช้โอกาสศึกษาแนวทางของสมาชิกต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ และยังเป็นแนวทางในการทำให้ไทยสามารถเข้าสู่ภาคีอื่นๆ ได้ต่อไปอีกด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าว