• กองทัพไทย และกองทัพสหรัฐฯ เตรียมการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 ครั้งที่ 41 ในห้วง 20 ก.พ.-5 มี.ค. 65 โดยมี 7 ประเทศเข้าร่วมฝึก และอีก 3 ประเทศเข้าโครงการช่วยเหลือ ปชช.
  • กำลังทางทหารที่เข้าร่วมการฝึก จำนวน 3,460 นาย โดยไม่มีการเชิญประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ จากเดิมมี 10 ประเทศ และระงับให้ทางเมียนมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยเป็นการฝึกในวงรอบ Heavy year เน้นการฝึกที่บังคับการ
  • แบ่งการฝึกเป็น 4 รูปแบบ ปรับลดกำลัง ไม่ฝึกการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ได้ งดจัดกำลังทางอากาศ และปฏิบัติการร่วมโดยการฝึกยกพลขึ้นบก แต่จะเข้าร่วมการฝึกในส่วนอื่นแทน

การฝึกซ้อมรบทางทหาร ภายใต้รหัส "คอบร้าโกลด์" ระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพสหรัฐฯ ในปีนี้ได้ดำเนินมาถึงครั้งที่ 41 ของการฝึกประจำปี 2022 ถือเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

โดยในปีนี้มีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย

...

แต่ในระยะ 2 ปีหลัง ตั้งแต่ปี 2563 การฝึกคอบร้าโกลด์ถูกลดขนาดของกำลังทางทหาร เนื่องจากยังอยู่ในสภาวะของสถานการณ์วิกฤติโรคโควิด-19 รวมถึงลดระดับการฝึกลงหลายรายการ แต่ให้สามารถดำเนินการฝึกได้ โดยในช่วงแรก กองทัพไทยได้ประชุมกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อกำหนดห้วงเวลาการฝึกระว่างเดือน ก.พ.-มี.ค. 2022 และจะมีพิธีเปิด 20 ก.พ. 2565 โดยตกลงร่วมกันว่าจะเป็นกำหนดการนี้แน่นอน แม้สถานการณ์จะเป็นเช่นใด เพียงแต่จะมีการปรับแผนการฝึกตามสถานการณ์ 

ซึ่งการฝึกร่วมผสม "คอบร้าโกลด์" ถือเป็นการฝึกซ้อมรบที่มีความสำคัญระหว่างกองทัพ จากมิตรประเทศกองทัพ ไปสู่ระดับสากล ที่เพียงจุดเริ่มการฝึกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2499 มีการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ จนพัฒนาการฝึกมีลักษณะบูรณาการ ในปี พ.ศ.2525 กองทัพเรือจึงได้รวมการฝึกของกองทัพเรือและกองทัพเรือสหรัฐฯ หลายรหัส การฝึกเข้าด้วยกัน กำหนดเป็นรหัสการฝึกใหม่ เรียกว่า "คอบร้าโกลด์ 82" โดยกองทัพอากาศจัดกำลังเข้าร่วมการฝึกด้วย

ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2526 กองทัพบกได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้ง 3 เหล่าทัพ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนได้ดำเนินมายาวนานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะคอบร้าโกลด์ได้เสริมสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในภูมิภาค มุ่งเน้นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อน ซึ่งไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะรับมือได้เพียงลำพัง

พร้อมยืนยันประโยชน์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ ที่ชาวไทยและชาวอเมริกัน และนานาประเทศ เห็นชัดว่า 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมกัน ภายหลังเกิดโศกนาฏกรรมและผลกระทบจากภัยพิบัติในภูมิภาคนี้ เช่น สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2547 ภัยพิบัติ 3 เหตุการณ์ในญี่ปุ่น ปี 2554 และปฏิบัติการกู้ภัยช่วยทีมหมูป่าในถ้ำหลวงของไทย ปี 2561

โดยปีนี้ได้ส่งกำลังทางทหารผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 3,460 นาย ประกอบด้วย ไทย 1,953 นาย สหรัฐอเมริกา 1,296 นาย สิงคโปร์ 50 นาย อินโดนีเซีย 16 นาย ญี่ปุ่น 35 นาย สาธารณรัฐเกาหลี 41 นาย มาเลเซีย 36 นาย จีน 10 นาย อินเดีย 5 นาย และออสเตรเลีย 18 นาย โดยในปีนี้ระหว่างกองทัพไทยและสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่าจะไม่มีการเชิญประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ จากเดิมมี 10 ประเทศ รวมถึงทางสหภาพเมียนมาที่แสดงเจตจำนงจะขอเข้าร่วม ก็ต้องระงับ เพราะเชื่อว่าไม่คุ้มค่าในเรื่องของเวลา

เพราะกำลังพลทุกนายที่เข้าร่วมการฝึกต้องมีการกักตัว 7 วัน และการควบคุมโรคมีความยุ่งยาก และการนำกำลังทหารเข้ามามากๆ จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงประชาชนจะไม่สบายใจ ซึ่งทางสหรัฐฯ จึงเป็นฝ่ายเสนอขอปรับลดกำลังทหารลง

...

พล.อ.ณตฐพล บุญงาม เสนาธิการทหาร ซึ่งเป็นประธานฝ่ายไทย เผยว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 20 ก.พ.-5 มี.ค. ถือเป็นครั้งที่ 41 เป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน 200 ปี และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด และมีความร่วมมือหลายมิติ ทั้งการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความมั่นคง และการฝึกทางทหาร

"จากสถานการณ์โควิด-19 เราตระหนักถึงความปลอดภัย ประชาชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยปรับรูปแบบการฝึกให้เข้ากับสถานการณ์ โดยปีนี้มีกำลังทหารร่วมฝึก 3,460 นาย คิดเป็น 2 ใน 3 จากการฝึกที่ผ่านมา เพราะคอบร้าโกลด์ไม่ใช่แค่การฝึก แต่ยังเป็นเวทีสร้างความเชื่อมั่นและสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เข้าร่วม เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค"

ด้าน Mr. Michael Heath อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 ย้ำถึงพันธไมตรีด้านความมั่นคงที่ยาวนานระหว่างสหรัฐฯ และไทย ในฐานะตัวแทนชาวอเมริกันและหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในประเทศไทย ทั้งนี้ คอบร้าโกลด์ ได้กำหนดมาตรฐานการฝึกซ้อมทางทะเลระดับพหุภาคีมาตลอด 11 ปี ซึ่งมีความพิเศษ เป็นการฝึกซ้อมทางการทหารระดับสากลที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก จึงไม่เพียงแต่แสดงถึงพันธไมตรีระหว่างสหรัฐฯ และไทยเท่านั้น และยังแสดงถึงความร่วมมือของนานาประเทศอันเป็นหัวใจของคอบร้าโกลด์

...

"การฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 แม้จะลดขนาดการฝึก เนื่องจากโควิด-19 แต่ยังให้ความสำคัญกับการจัดการฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และโครงการช่วยเหลือประชาชน โครงการก่อสร้าง และท้ายที่สุดสิ่งที่ทำให้คอบร้าโกลด์พิเศษคือ การฝึกนี้แสดงถึงปัจจัยที่ค้ำจุนมิตรภาพ ซึ่งเป็นมิตรภาพอันเที่ยงแท้ไว้กว่า 200 ปีที่ผ่านมา ดังที่สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ พ.ศ. 2376 เริ่มจากการเป็นสัญญาทางการค้าระดับทวิภาคีแล้วจึงเติบโตเป็นความร่วมมือในหลากหลายด้าน อาทิ การศึกษาและวัฒนธรรม การสาธารณสุข การพาณิชย์และการค้า คอบร้าโกลด์ก็ได้พัฒนาขึ้นจากการฝึกซ้อมทางทะเลขนาดเล็กระดับทวิภาคี กลายเป็นหนึ่งในการฝึกซ้อมทางทหารระดับพหุภาคีที่โดดเด่นเป็นเลิศที่สุดของโลก ซึ่งยังประโยชน์แก่ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค"

ขณะที่ พ.ท.Bill Grube ผู้อำนวยการแผนกฝึกร่วมผสม จัสแมกไทย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจคือการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ เรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชน หรือแม้แต่การฝึกปัญหาที่บังคับการ ในปีนี้เราดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารในโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศไทย เราให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ทุกคน ตลอดจนชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่จัดและสนับสนุนการฝึกครั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิดของรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการตรวจภายใต้มาตรการ bubbles in bubbles

...

"ปีนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ งดส่งกำลังทางอากาศเข้าร่วมการฝึก ขณะที่กองทัพบกสหรัฐฯ มี V22 ออสเปรย์ Black Hawk 12 เครื่อง กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือลาดตระเวนทางทะเล เรือ USS Green Bay"

นอกจากนี้ พล.ท.ชิดชนก นุชฉายา เจ้ากรมยุทธการทหาร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 กล่าวว่า การฝึกครั้งนี้มีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก 7 ประเทศ และประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 20 ประเทศ

"การฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ในวงรอบ Heavy year ที่มีความใกล้เคียงกับการฝึกในวงรอบ Right Here ปีที่แล้ว แต่โดยลักษณะการฝึกในที่บังคับการ เป็นการนำแผนจากการที่ได้จากปีที่แล้วมาฝึกอำนวยการยุทธ์ โดยมีฝ่ายอำนวยการ และผู้บังคับหน่วยเข้าร่วมมากขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างเหล่าทัพ เรื่องการปรับลดกำลังลงไม่สามารถฝึกการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ได้ จึงเป็นการฝึกร่วมสองฝ่ายของแต่ละเหล่าทัพ โดย กองทัพบก จะเป็นการฝึกระดับหน่วยกรมสไตรเกอร์ และกรมรบพิเศษ ขณะที่ กองทัพเรือ เป็นการปฏิบัติการทางทหารของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ส่วนกองทัพอากาศในปีนี้งดจัดกำลังทางอากาศ แต่จะเข้าร่วมการฝึกในส่วนอื่นแทน"

สำหรับรูปแบบการฝึก ที่ฝ่ายกองทัพไทย และสหรัฐฯ เห็นพ้องต้องกันจัดการฝึกหลัก

1.การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) ระหว่างวันที่ 20 ก.พ.-5 มี.ค. 2565 โดยกองบัญชาการกองทัพไทย จัดตั้ง กองบัญชาการกองกำลังผสมนานาชาติ (Multi National Forces Headquarters : MNF HQs.) ร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกา และมิตรประเทศ ณ อาคารม้าแดง กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

2.โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian/Civic Assistance : HCA) ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-3 มี.ค. 2565 จำนวน 5 โครงการก่อสร้าง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ย จังหวัดกระบี่ โรงเรียนบ้านหนองมะค่า จังหวัดสระบุรี โรงเรียนวัดคลองตะเคียน จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนหนองบอนวิทยาคม จังหวัดตราด และโรงเรียนบ้านเขาตาอิ๋น จังหวัดระยอง

3.การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief Table Top Exercise : HADR-TTX) ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ. 2565 ณ โรงแรมสิรินพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

4.การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) ระหว่างวันที่ 20 ก.พ.-5 มี.ค. 2565 โดยเหล่าทัพรับผิดชอบการฝึกในรูปแบบการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ (Subject Master Expert Exchange : SMEE) พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และอ่าวไทยตอนบน

และให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปีนี้ได้มีการปรับลดกำลังพล จาก 8,964 นาย เหลือ 3,460 นาย และปรับรูปแบบการฝึกภาคสนาม โดยงดการฝึกร่วมขนาดใหญ่ของทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้แก่ การฝึกยกพลขึ้นบก การฝึกอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่การรบ และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง และคงการฝึกผสมในระดับยุทธวิธีของทั้ง 3 เหล่าทัพ

ในลักษณะการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ระดับไม่เกิน 1 กองร้อย โดยไม่เกิน 500 นายในแต่ละพื้นที่การฝึก เพื่อความปลอดภัยของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึก และพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยรอบการฝึก ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการฝึกในปีที่ผ่านมา และนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เพราะผู้เข้าร่วมการฝึกไม่มีการติดเชื้อโควิด เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ก่อน ระหว่าง และหลังการฝึก อย่างเคร่งครัด 3 ระยะ

ก่อนเข้าประเทศ ผู้เข้ารับการฝึกจากมิตรประเทศ ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขอเข้าประเทศ Thailand Pass และตรวจสอบเอกสารขณะเข้าประเทศ (immigration) ไปจนถึงการเข้ารับการกักตัว 7 วัน ตามที่ได้ทำการจองที่พักไว้

ระหว่างอยู่ในประเทศ แบ่งเป็น 2 ห้วง คือ ห้วงการกักตัว (ASQ) และห้วงการฝึก ห้วงการกักตัว (ASQ) ผู้เข้ารับการฝึกทั้งฝ่ายไทยและมิตรประเทศ ต้องกักตัว 7 วัน และตรวจคัดกรองแบบ RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง สำหรับห้วงการฝึก ใช้มาตรการ Bubble and Seal ในทุกพื้นที่การฝึก โดยจะคัดกรองผู้เข้ารับการฝึกทุกวัน และกำหนดให้มีการตรวจ ATK ทุกๆ 5 วัน

หลังจากจบการฝึก จะติดตามรายงานผลตรวจ COVID-19 หลังจากที่เดินทางเข้าประเทศตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้รับเชื้อจากประเทศไทย

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติ ในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนในระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพจากมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน

และในระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึก ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของมิตรประเทศ และประชาคมโลกต่อไป

ในภาพรวมการฝึกปีนี้ "กองทัพไทยและสหรัฐฯ" ยืนยันว่าไม่มีการฝึกในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยใช้พื้นที่ฝึกใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และอ่าวไทยตอนบน โดยที่มิให้กองกำลังที่เข้าฝึกใกล้ชายแดน เพื่อเป็นการป้องกันกระแสข่าวต่างๆ และให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่าย.


ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว

กราฟิก : sathit chuephanngam