“หมอโอภาส” เผยประสิทธิภาพสูตรวัคซีนต่างๆ กับอัลฟา เดลตา โอมิครอน ทุกสูตรป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ด้านกรมการแพทย์ยันสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิดมีเพียงพอ

วันที่ 14 ม.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า กรมควบคุมโรคติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใน 4 พื้นที่ แต่ละช่วงเวลามีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ภูเก็ต ช่วงเดือน ส.ค. มีสายพันธุ์อัลฟา
2. กทม. ช่วง ก.ย. - ต.ค. มีทั้งอัลฟาและเดลตา
3. เชียงใหม่ ช่วง ธ.ค. มีสายพันธุ์เดลตา
4. กาฬสินธุ์ ช่วง ธ.ค. มีสายพันธุ์โอมิครอน

จากการวิเคราะห์พบว่า วัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงประมาณ 90-100% ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเมื่อได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นหรือการฉีดสูตรไขว้จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายและรับเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) หรือไฟเซอร์ (Pfizer) พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน ส่วนการรับเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซเนกาหรือไฟเซอร์ สามารถป้องกันโอมิครอน (Omicron) ได้ 80-90%

...

“การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดยผู้ที่ได้รับสูตรไขว้ซิโนแวค (Sinavac) - แอสตราเซเนกาครบในช่วง ส.ค. - ต.ค. 2564 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกาเป็นหลัก ผู้ที่ได้รับแอสตราเซเนกา 2 เข็มช่วง ก.ค. - ส.ค. 2564 จะกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา ยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมีเพียงพอ”

ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด- 19 ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นการดูแลที่บ้านและชุมชน (HI & CI first) เนื่องจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีก 30% มีอาการไม่มาก แต่หากประเมินพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงจะส่งไปยัง Hospitel โรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลักต่อไป

สำหรับข้อกังวลเรื่องสถานการณ์เตียง จากข้อมูลเตียงโรงพยาบาลและ Hospitel เปรียบเทียบระหว่างวันที่ 9 ม.ค. 2565 ที่เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนมากขึ้น และวันที่ 13 ม.ค. 2565 พบว่า

  • เตียงสีแดง สำหรับผู้ป่วยอาการหนักลดลง โดยทั่วประเทศจาก 213 เตียง เหลือ 182 เตียง ส่วน กทม. คงเดิม คือ 25 เตียง
  • เตียงสีเหลือง มีการใช้เพิ่มขึ้น ทั่วประเทศจาก 1,681 เตียง เป็น 3,095 เตียง กทม. จาก 513 เตียง เป็น 1,246 เตียง เนื่องจากแพทย์ต้องการเฝ้าระวังสังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง
  • เตียงสีเขียว ทั่วประเทศใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 เตียง ส่วน กทม. ใช้เพิ่มประมาณ 3,000 เตียง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเตียงยังมีเพียงรองรับได้ เราเน้น HI/CI First เพื่อลดจำนวนการครองเตียงในโรงพยาบาล โดยในส่วนของ CI กทม. เตรียมไว้ 5,000 - 6,000 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลไม่ถึง 1,000 ราย

“ขอย้ำว่าผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ให้ติดต่อสายด่วน 1330 ขอให้โรงพยาบาลที่ได้รับการประสานติดต่อผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินอาการ ให้คำแนะนำในการดูแล จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ พร้อมติดตามประเมินอาการ ซึ่งถ้าอาการเปลี่ยนแปลงก็จะประสานเข้าระบบส่งต่อ และขอให้โรงพยาบาลต่างๆ รับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้จัดเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กมาเป็นที่ปรึกษาให้”

...

ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเสริมว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ขยายศักยภาพโรงพยาบาลเอกชนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปสู่โรงแรม เพื่อรองรับประชาชนที่มีอาการรุนแรงขึ้นให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยข้อมูลวันที่ 13 ม.ค. 2565 ได้อนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม Hospitel จำนวน 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง ขณะนี้เปิดดำเนินการ 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง แบ่งเป็น

  • ระดับ 1 สีเขียว 28,645 เตียง ครองเตียง 14,979 เตียง มีเตียงว่าง 13,666 เตียง หรือเกือบ 50%
  • ระดับ 2.1 สีเหลือง 1,187 เตียง ครองเตียง 472 ราย มีเตียงว่าง 715 เตียง
  • ระดับ 2.2 สีเหลืองที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ High Flow 352 เตียง ครองเตียง 55 เตียง ว่าง 297 เตียง
  • ระดับ 3 สีแดง มี 56 เตียง ครองเตียง 4 เตียง ว่าง 52 เตียง

นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 7) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับลดอัตราค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากเดิมฉบับแรก 3,125 บาท เป็น 1,300 - 1,500 บาท และลดค่าห้องในโรงพยาบาลสนาม Hospitel จากเดิม 1,500 บาท เป็น 1,000 บาท โดยหารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนและกองทุนที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมือจากเป็นอย่างดีในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดบริการให้กับประชาชน

...

ส่วนกรณีประกันสุขภาพจะครอบคลุมการดูแลด้วย HI/CI ในกรณีการตรวจด้วย ATK หรือไม่ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีการหารือกับรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่ง คปภ. จะนำสภาพปัญหาและรายละเอียดไปประชุมร่วมกับบริษัทประกันภัย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป.