นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวบนเวทีรับฟังความคิดเห็น “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” ว่ากระทรวงคมนาคมไม่เคยมีแนวคิดปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่เป็นการปรับลดบทบาทลงมา เนื่องจากสถานีหัวลำโพงเป็นสถานีปลายทางที่มี การเดินรถเข้า-ออกทางเดียว ไม่สะดวก ขนาดที่ตั้งก็ไม่สามารถรองรับการเชื่อมต่อได้ จึงเห็นควรเหลือเพียงการเดินรถไฟชานเมืองเท่านั้น ส่วนหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยใน (รฟท.) ปัจจุบันมีอยู่ 200,000 ล้านบาท และมีหนี้ผูกพันทางสัญญา 400,000 ล้านบาท รวมหนี้สินใกล้ 600,000 ล้านบาท
นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า เอสอาร์ที แอสเสท ทำหน้าที่บริหารที่ดินของ รฟท.ที่ไม่ใช่ทางรถไฟ โดยเราจะพัฒนาในรูปแบบ TOD เน้นพื้นที่สีเขียว พร้อมพัฒนา เป็นมิกซ์ยูส ใช้พลังงานสะอาด ขณะที่สถานีหัวลำโพงเมื่อลดบทบาทลง ไม่ได้พัฒนาในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน พื้นที่รกร้างอาจถูกบุกรุกได้ จึงต้องอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้มีคุณค่า
“ไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพง แต่แนวทางบริหารพื้นที่จะมีความพิเศษ กว่าพื้นที่อื่น เพราะเป็นที่ดินประวัติศาสตร์ที่ ร.5 ให้เป็นสมบัติแห่งชาติ โดย พื้นที่ 5 จุดที่จะไม่มีการพัฒนา ได้แก่ อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร จุด กม.ที่ 0, ตัวสถานีหัวลำโพง เป็นสถาปัตยกรรม ที่มีอายุ 105 ปี, อนุสรณ์ปฐมฤกษ์อยู่ติดกับรางรถไฟ, ตึกบัญชาการของการรถไฟ และตึกแดง โดยทั้ง 5 แห่ง ถือเป็นสมบัติแผ่นดินที่มีค่า เราต้องอนุรักษ์ ซ่อมแซมให้คงสภาพอยู่ดี”.