ข้อเขียนของผมวันนี้ ถือว่าเป็น “ภาค 2” หรือ “ตอนที่ 2” ของเมื่อวานนี้ครับ...ที่ผมเขียนไว้ว่าผมเป็นห่วงมากกับ “โปรเจกต์ค้างฟ้า” ที่มีชื่อว่า “หมอชิตคอมเพล็กซ์” ณ บริเวณซึ่งเคยเป็นสถานีขนส่ง “หมอชิต 1” หลังโรงพิมพ์ไทยรัฐนี่เอง
เพราะสิ่งที่คอมเพล็กซ์แห่งนี้จะผลิตหรือนำออกมาขายเมื่อสร้างเสร็จแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ล้นประเทศแล้วทั้งสิ้น
ศูนย์การค้าเอย อาคารสำนักงานเอย เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เอย โรงแรมเอย ศูนย์ประชุมเอย...ได้ยินชื่อก็เหนื่อยแทนแล้วครับ เพราะมีอยู่ทุกหัวถนนใน กทม.
ที่มีอยู่ก็ขายไม่ออก...ห้องว่าง ตึกว่าง...ศูนย์การค้าคนเดินโหรงเหรง...แถมบางแห่งกลายเป็นอาคารร้างไปเกือบครึ่งตึกก็ยังมี
แล้วจะไม่ให้ผมเป็นห่วงได้ยังไงล่ะ
หลายๆท่านอาจจะตั้งคำถามว่าจะไปห่วงนายทุนเขาทำไม? เขามีเงินทองของเขาเอง...หรือไม่เขาก็มีปัญญาที่จะกู้เงินมาลงทุนได้เอง...รัฐ ซึ่งในที่นี้คือ กรมธนารักษ์ มีแต่จะได้เปรียบ คือได้ค่าเช่า และเมื่อครบสัญญาแล้วก็ยังจะได้อาคารทั้งหมดมาเป็นสมบัติของรัฐเสียอีก
จะไปมองแบบนี้ไม่ได้ครับ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่จะต้องใช้ทรัพยากรของชาติจำนวนไม่น้อย...จึงควรจะต้องเป็นโครงการที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อชาติเป็นส่วนรวมตามที่แก่นแท้ของวิชา เศรษฐศาสตร์ สั่งสอนไว้
วิชาเศรษฐศาสตร์สอนว่าอย่างไร? ผมก็นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์เก่าๆและคำจำกัดความที่ค้นได้ใน “กูเกิล” ซึ่งสรุปว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้มนุษย์รู้จักใช้ทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดของประเทศและของโลกมาผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัดของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด”
...
“โดยให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดหรืออย่างเต็มที่ทั้งต่อมนุษย์รายบุคคล หรือที่รวมกันเป็นครอบครัวและประเทศชาติแต่ละประเทศ”
ดังนั้น เมื่อจะมีการลงทุนหรือจะมีการสร้างโครงการ ซึ่งจะต้องมีการใช้ทรัพยากรอันมีจำกัดในแต่ละครั้ง วิชาเศรษฐศาสตร์จึงสอนให้ใช้ความคิดความอ่านอย่างรอบคอบอยู่เสมอ ว่าลงท้ายแล้วจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่มนุษย์ หรือสังคมโดยรวมหรือไม่
โครงการ “มิกซ์ยูส” อย่างที่ว่านี้ หากสร้างแล้วขายได้หมด มีการนำไปใช้ มีคนเข้ามาใช้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง...ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่เป็นประโยชน์...ถูกต้องตามตำรา
แต่ถ้าสร้างแล้วร้าง ก็ถือว่าเปล่าประโยชน์...และเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง...เริ่มตั้งแต่เอาทรัพยากรการเงินอันจำกัดมาละลายเล่น...เอาปูนซีเมนต์มาเททิ้งเล่น เอาเหล็กมาตั้งโด่เด่เล่น
โดยเฉพาะทรัพยากรการเงินนั้น ถ้าเป็นเงินกู้จากธนาคารด้วย ก็จะหนักข้อเลย เพราะความสิ้นเปลืองความสูญเสียและความเปล่าประโยชน์จะโยงและมีผลกระทบไปถึงประชาชนที่เอาเงินไปฝากธนาคาร และแบงก์ชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการให้กู้ยืมของธนาคารต่างๆเข้าให้ด้วย
ทุกวันนี้ ถ้าเรานั่งรถไฟฟ้า หรือขับรถไปทั่วกรุงเทพฯ หรือทั้งประเทศไทยเลยก็ได้...เราจะเห็นตึกร้าง...โครงการร้างที่ใช้ทรัพยากรปูนซีเมนต์อย่างไม่คุ้มค่าเกลื่อนไปหมดดังที่ผมเขียนไว้เมื่อวานนี้
นี่คือ “บาดแผล” ของประเทศไทยอันเป็นผลจากการไม่ทำตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ ไม่รู้จักใช้ทรัพยากรอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อหลายวันก่อนผมเคยเตือนกระทรวงคมนาคมไปแล้วหนหนึ่งที่จะเอาสถานีหัวลำโพงมาเป็นโครงการ “มิกซ์ยูส” ใหญ่โตมโหฬารเช่นเดียวกัน
ไหนๆก็เตือนโครงการ “หมอชิต” แล้วก็ฝากเตือนย้อนหลังไปถึงโครงการ “หัวลำโพง” ด้วย...ถ้าจะเป็นมิกซ์ยูส-ศูนย์การค้า-อาคารสำนักงาน-เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์อีกละก็...“อย่าหาทำ” เลยครับ เพราะจะกลายเป็นบาดแผลใหม่ขึ้นมาอีกแผลหนึ่ง
บ้านเรามี “แผลเก่า” ที่กลายเป็น “แผลเป็น” ปุปะรุงรังไปทั้ง กทม.และปริมณฑล และ 2 ฟากถนนทั่วประเทศมากเกินไปแล้วที่ว่า
จะคิดจะทำอะไรที่ใช้ทรัพยากรของชาติ (อันมีจำกัด) กันอีก... ผมก็ฝากให้ใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ และความรอบคอบ ความละเอียดลออก่อนตัดสินใจ หรือก่อนลงมือทำด้วยก็แล้วกัน.
“ซูม”