สภาองค์กรของผู้บริโภค เดินหน้าสำรวจปัญหา SMS กวนใจ กินเงิน-หลอกลวงซื้อของออนไลน์ ได้สินค้าไม่ตรงปก-ถูกดูดข้อมูลส่วนตัว เร่งดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน แก้ปัญหา

วันที่ 24 พ.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรผู้บริโภคเดินหน้า ทำ MOU กับแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็พบพฤติกรรมผู้บริโภคทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ทั้ง Mobile Banking การใช้ระบบพร้อมเพย์ และแอปพลิเคชันต่างๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนต่างๆ ของภาครัฐ ที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนที่มีส่วนผลักดันให้ประชาชนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ยังเป็นช่องทางต่างๆ ทั้งการโฆษณากวนใจ เชิญชวนให้เล่นการพนันเสี่ยงโชค หลอกลวงให้ซื้อสินค้าออนไลน์ แล้วไม่ตรงกับคำที่โฆษณา หรือไม่ตรงปก รวมทั้งหลอกลวงดูดข้อมูล โดยก่อนหน้านี้เกิดปัญหาที่มีการส่งลิงก์เอสเอ็มเอส เมื่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยี กดเข้าไปอ่านข้อความอาจเสียทั้งเงินและถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวได้ รวมถึงหลอกให้ช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐานก็เพียบ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และมีคำถามว่านอกจากประชาชนจะต้องระมัดระวังในการกดลิงก์เข้าไปอ่านเอสเอ็มเอสด้วยตนเองแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ประกอบการจำเป็นต้องคุ้มครองผู้บริโภคจากปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

น.ส.สารี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เรียกประชุมสำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แก้ไขปัญหาและทำการบล็อกเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวงเหล่านี้ และเร่งดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ โดยมีการคาดโทษผู้ให้บริการที่ให้บริการขายต่อเอสเอ็มเอส และผู้ให้บริการด้านเนื้อหา โดยมีโทษทางปกครอง ตั้งแต่เตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาตและโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นเพื่อเป็นการติดตามมาตรการการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงทำแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริโภค "กรณี SMS กวนใจ/กินเงิน/หลอกลวง" โดยสามารถเข้าไปทำแบบสอบถามกันได้ที่ http://bit.ly/329WIJD

...

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการ แก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อข้อความเอสเอ็มเอสเหล่านี้อีกต่อไป ผู้บริโภคคนใดตกเป็นเหยื่อหรือได้รับข้อความในลักษณะที่เข้าข่าย หรือทราบว่าผู้ใกล้ชิด คนรู้จักมีปัญหาจากเอสเอ็มเอสเหล่านี้ อยากปรึกษา หรือต้องการร้องเรียน สามารถร้องเรียนมาได้ที่ ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สอบ. อีเมล tcc.complaint@thaiconsumerscouncil.org โทรศัพท์หมายเลข 081 134 9216 inbox Facebook :สภาองค์กรของผู้บริโภค

"เบื้องต้นคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคขอให้ระมัดระวังไม่กดอ่านข้อความหรือคลิกลิงก์จากคนไม่รู้จัก และธนาคารไม่มีนโยบายส่ง SMS หรือ email เพื่อให้ดาวน์โหลดหรือติดตั้งโปรแกรมหรือเข้าสู่ระบบธนาคาร ที่สำคัญคือ ของฟรีไม่มีในโลก แต่หากเผอิญกดลิงก์ที่น่าสงสัยไปแล้วให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้งานที่ปลอดภัย ที่สำคัญต้องหมั่นตรวจสอบการทำธุรกรรมออนไลน์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที" น.ส.สารี กล่าว