จากการเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วัคซีนของจุฬาฯ ทั้ง ChulaCov19 และวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา ถือเป็นต้นแบบและนวัตกรรมของจุฬาฯที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 โดยจะพัฒนาให้ได้มาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ ในอนาคตไทยจะได้ไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนต่างประเทศมากนัก และหากเกิดการกลายพันธุ์ก็จะได้มีวัคซีนป้องกันโควิดของเราเอง ขอให้ความมั่นใจว่า จุฬาฯจะสนับสนุนนวัตกรรมอย่างเต็มที่ เพื่อให้ปัญหาโควิดคลี่คลายไปในที่สุด
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุดเด่นวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งเป็นชนิด mRNA คือ มีการออกแบบ mRNA ที่ต่างจากไฟเซอร์และโมเดอร์นา ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตร, สูตรหุ้มไขมันเป็นคนละสูตรกับไฟเซอร์และโมเดอร์นา และเก็บได้นาน 3 เดือน ดังนั้นการขนย้ายและการฉีดจึงมีระยะเวลาที่ยืดหยุ่นได้ดีกว่า ทีมงานมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย และพัฒนามาตรฐานให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลคือ องค์การอนามัยโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศยากจนได้เข้าถึง สำหรับงบประมาณที่ได้รับล่าสุดจากรัฐบาล 2,300 ล้านบาทนั้น ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่เข้าใจถึงการพัฒนาวัคซีนที่ต้องมีความต่อเนื่องและต้องลงทุน ยืนยันว่าจุฬาฯจะบริหารจัดการงบประมาณทุกบาทด้วยความรอบคอบ และให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งในอนาคตคณะแพทยศาสตร์ก็ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนนี้ เพื่อความยั่งยืนและมั่นคงด้านวัคซีน และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อชุมชน นำเงินจ้างคนเก่งๆ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติมาช่วยพัฒนาวัคซีนที่มีคุณภาพต่อไป
...
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯและซีอีโอ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนจุฬาฯ-ใบยา กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนใบยา สามารถปรับเปลี่ยนมาผลิตวัคซีนชนิดต่างๆได้ ไม่จำกัดเฉพาะวัคซีนโควิด รวมทั้งสามารถผลิตยารักษาโรคได้ด้วยโดยขณะนี้ได้มีการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ปีหน้าและอนาคตหากมีโรคระบาดอื่นๆเกิดขึ้น ก็สามารถปรับมาผลิตวัคซีนได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่.