กรมราชทัณฑ์ รื้อระบบฝากเงินนักโทษ ชู e-Payment 70 แห่ง อำนวยความสะดวกญาติฝากผ่านตู้ ATM และ KTB Netbank ของ ธ.กรุงไทย เพิ่มความโปร่งใสก่อนขยายใช้กับทุกเรือนจำทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์เล็งเห็นความสำคัญของการรับเงินและจ่ายเงินของเรือนจำ/ทัณฑสถาน ตลอดจนสถานกักขังทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดใช้งานระบบบริการบัญชีเงินฝากผู้ต้องขัง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ หรือ e-Payment ในปี 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติ ในการรับฝากเงินให้ผู้ต้องขังโดยไม่ต้องเดินทางมาฝากเงินที่เรือนจำ/ทัณฑสถาน แต่สามารถนำเงินฝากผ่านช่องทางธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ เช่น เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย ตู้เอทีเอ็ม KTB Netbank Mobile Banking ระบบ e-Payment โดยที่ญาติผู้ต้องขังจะต้องมาลงทะเบียนกับทางเรือนจำ เพื่อจัดทำบัตรฝากเงินก่อนนำเงินไปฝากให้กับผู้ต้องขัง ผ่านช่องที่กรมราชทัณฑ์กำหนด โดยบุคคลที่จะสามารถลงทะเบียนจัดทำบัตรเงินฝากได้ อาทิ บิดา-มารดา ภรรยา บุตร หรือพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน ตลอดจนบุคคลที่ผู้ต้องขังระบุให้เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าเยี่ยม หรือตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น สถานทูต สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล
นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า ระบบเงินฝากรูปแบบใหม่ นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติของผู้ต้องขัง ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ยังเป็นการช่วยลดขั้นตอน การทำงานของเจ้าหน้าที่ของเรือนจำและทัณฑสถานในการเก็บรักษาเงินฝากของผู้ต้องขัง ตลอดจนทำให้เกิดความโปร่งใส ด้วยการปิดช่องว่างหรือข้อครหาเรื่องการทุจริต ตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตลอดจนเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการเข้าสู่ Digital Government ในการบริการประชาชนในรูปแบบ E-Service Government อย่างแท้จริง
...
นายอายุตม์ เปิดเผยต่ออีกว่า ในช่วงแรกของการเปิดใช้กรมราชทัณฑ์ได้ทำการทดลองระบบและนำร่องในเรือนจำ 3 แห่ง และได้ขยายเรือนจำที่สามารถรับฝากเงินผ่านระบบ e-Payment รวมถึงพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ญาติผู้ต้องขังเรื่อยมา ปัจจุบันมีเรือนจำ/ทัณฑสถานที่รองรับการเปิดใช้งาน e-Payment แล้ว จำนวน 70 แห่ง และจะขยายการติดตั้งระบบให้กับเรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศ ในคราวต่อไปซึ่งผู้ที่ต้องการใช้บริการระบบ E-Payment สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ผ่านทางเว็บไซต์ กรมราชทัณฑ์ .