“อนุทิน-สาธิต-นพ.เกียรติภูมิ” มอบนโยบายปี 65 สนองโครงการพระราชดำริ เดินหน้าประเทศผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 รองรับการเปิดประเทศ ใช้สาธารณสุขสร้างชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่ขับเคลื่อนงานด้านอื่นๆ

วันที่ 18 ต.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุขประจำปีงบประมาณ 2565 แก่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางและภูมิภาคผ่านระบบออนไลน์

นายอนุทิน กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านเหตุการณ์ท้าทายหลายเหตุการณ์ ทั้งฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วม คดีกราดยิงโคราช และวิกฤติโควิด-19 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การสาธารณสุขไทยประสบความสำเร็จ คือ พลังของคนสาธารณสุขที่ร่วมกันทำงาน ทั้งระดับนโยบาย หน่วยงาน จังหวัด และพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกภาคส่วน รวมถึง อสม. จึงให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากร ที่ผ่านมาขับเคลื่อนการบรรจุข้าราชการใหม่ในสังกัด 45,242 ตำแหน่ง ค่าตอบแทนเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษนอกเหนือโควตาปกติ 1% ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ และค่าตอบแทนการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกสถานบริการ

สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งยังต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 และต้องใช้ชีวิตร่วมกับโรคนี้อย่างปลอดภัย ขอให้บุคลากรทุกคนยึดมั่นแนวนโยบายของรัฐบาล และการสนองโครงการพระราชดำริทางด้านสาธารณสุขในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ เป็นภารกิจลำดับแรก ส่วนการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เข้มแข็ง นำองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขสร้างชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศด้วยสาธารณสุขวิถีใหม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” มี 9 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

...

1. การใช้มาตรการสาธารณสุขขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยทุกมิติ เพื่อเตรียมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยยึดความปลอดภัยของคนไทยเป็นสำคัญ

2. พัฒนาศักยภาพสถานพยาบาลของรัฐให้รองรับสถานการณ์วิกฤติโรคระบาด โรคอุบัติใหม่ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ

3. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการแพทย์ปฐมภูมิทั้งเขตชุมชนและเขตเมือง จัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ 3,000 ทีม จังหวัดละ 1 อำเภอ สนับสนุนให้คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัวครบ 3 คน 30 ล้านคน

4. พัฒนาและเสริมศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นศูนย์การสาธารณสุขประจำตำบล ให้บริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และคุ้มครองผู้บริโภค

5. บูรณาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวมครบด้าน ทั้งสมอง จิตใจ ฟัน ตา หู และหัวใจ
         
6. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพงานบริการ ด้วยการต่อยอด 30 บาทรักษาทุกที่ เข้ารับบริการโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยากด้านเอกสารและรายจ่ายของประชาชน

7. พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการรักษามะเร็งทุกที่ ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด และรังสีรักษา

8. พัฒนาพืชสมุนไพร กัญชา กัญชง กระท่อม และภูมิปัญญาไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ประชาชน

9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เป็นศูนย์กลางข้อมูลสุขภาพประชาชน เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขส่วนบุคคลอย่างรวดเร็ว 

ทางด้าน นายสาธิต ระบุว่า สุขภาพประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย พร้อมต่อการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล ขอให้มุ่งเน้นใน 5 ประเด็น คือ

1. ดูแลสุขภาพประชาชนให้เข้าสู่สุขภาพดีวิถีชีวิตปกติใหม่ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร และชุมชน ยกระดับมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค COVID Free Setting เพื่อรองรับการเปิดประเทศ เช่น สตรีทฟู้ด โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร สถานประกอบการ เป็นต้น ส่งเสริมการมีสมุดสุขภาพประจำตัวออนไลน์ในเด็กแรกเกิด ป.1 และอายุ 60 ปีขึ้นไป การจัดการข้อมูลสุขภาพเพื่อส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพ และส่งเสริมการออกกำลังกายในกลุ่มเยาวชน โรคอ้วนมากขึ้น มีอาหารคุณภาพปลอดภัยเพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

2. ยกระดับการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร และภูมิปัญญาไทย เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศ ต่อยอดโปรดักต์แชมเปี้ยนโควิด “ฟ้าทะลายโจร” พัฒนาองค์ความรู้แพทย์แผนไทยฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยภาวะลองโควิด ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ครบห่วงโซ่ ทั้งต้นทาง ยกระดับคุณภาพวัตถุดิบ กลางทางต่อยอดวิจัยนวัตกรรม ปรับปรุงกฎระเบียบและระบบการขึ้นทะเบียน ให้คำปรึกษาเชิงรุกผู้ประกอบการ และปลายทาง สร้างความเชื่อมั่นส่งเสริมการตลาด เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

3. สนับสนุน ดูแล และเพิ่มศักยภาพ อสม. ซึ่งเป็นหมอคนแรกที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ตามนโยบาย 3 หมอ ให้เป็น อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน เป็นแกนหลัก 3 หมอให้ความรู้วัคซีน ทำงานด้วยจิตอาสา

4. เสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของภาครัฐและภาคีเครือข่ายให้ทันสมัย ประชาชนเข้าถึงได้ เฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ตั้งศูนย์ทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ จัดเก็บเชื้อโรค ควบคุมคุณภาพวัคซีนเน้นการแพทย์แม่นยำจัดทำฐานพันธุกรรมมนุษย์ นำร่องพื้นที่อีอีซี 50,000 ตัวอย่าง คุ้มครองผู้บริโภคพัฒนาห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานและวิธีตรวจใหม่ๆ ทั้งยา วัตถุเสพติด อาหาร สมุนไพร กัญชา ตำรับยาไทย

...

5. ปรับบทบาทการกำกับดูแลอาหารและยาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป้าหมายผู้บริโภคปลอดภัย ผู้ประกอบการก้าวไกล ระบบคุ้มครองสุขภาพไทยยั่งยืน เน้นรวดเร็ว ลดขั้นตอนการให้บริการ อนุมัติรวดเร็ว ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความรู้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ ผิดกฎหมาย ทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้ เพิ่มขีดความสามารถภาคธุรกิจในการแข่งขัน และสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน

ขณะที่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ในปีงบประมาณ 2565 นอกจากการร่วมกันพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 แล้ว ยังต้องพัฒนาสาธารณสุขไทยให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้านำนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม 9 ประเด็น ได้แก่

1. ขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง ให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน จัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายเต็มพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ และพัฒนาศักยภาพ รพ.สต. ให้ได้ตามมาตรฐาน

2. เศรษฐกิจสุขภาพโดยสถานพยาบาลกลุ่มเป้าหมายมีศักยภาพในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเพิ่มขึ้น 10%

...

3. ยกระดับสมุนไพร กัญชา กัญชงทางการแพทย์ และภูมิปัญญาไทย เพิ่มมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศ 5% จากปีที่ผ่านมา

4. ส่งเสริมสุขภาพดีวิถีใหม่ Living With COVID-19 พร้อมรองรับการเปิดประเทศ

5. การจัดการวิกฤติโควิด-19 ตั้งเป้าให้ทุกจังหวัดควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้สงบได้ภายใน 21-28 วัน ลดความรุนแรง และอัตราป่วยตายให้ต่ำกว่า 1.55%

6. พัฒนาระบบบริการก้าวหน้า โดยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย รองรับผู้ป่วยโควิ-19 และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจพัฒนาโรงพยาบาลทุกระดับให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความทันสมัย และบริการที่ดี ตามนโยบาย (EMS : Environment, Modernization and Smart Service)

7. การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมผู้สูงอายุและพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตเชิงรุกให้คนไทยมีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และมีความเข้มแข็งทางใจ ปลอดภัยจากผลกระทบด้านสุขภาพจิต

8. การบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล สุจริต ยึดประโยชน์ของประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกจังหวัดพัฒนาระบบ ICT เป็นศูนย์ข้อมูลกลางด้านสุขภาพของประชาชน

9. ผู้นำทุกระดับต้องใส่ใจดูแลบุคลากรให้มีความสุขและปลอดภัยในการทำงาน