ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามประกาศฉบับที่ 40 ให้ “ธนาคาร สถาบันการเงิน” ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึง 2 ทุ่ม

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 40) โดยมีเนื้อหาสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 39) ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ให้ปิดสถานที่และให้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันมิให้การระบาดเพิ่มความรุนแรงขึ้น นั้น เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้แจ้งให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการประชุม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เพื่อปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินชีวิต

ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ในการประชุม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 24/2564 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 จึงมีคำสั่งให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจลิสซิ่ง บัตรเครดิต หรือการให้สินเชื่อ ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

...

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิ์โต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564