โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ แจงรายชื่อรับวัคซีนไฟเซอร์ตกหล่นและซ้ำซ้อนจริง แก้ไขแล้ว ยัน ไม่นำวัคซีนเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ไปฉีดให้วีไอพี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ส.ค. 2564 พลอากาศโทธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ, พลอากาศตรีทวีพงษ์ ปาจรีย์ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ, พลอากาศตรีหญิง อิศรญา สุขเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, นาวาอากาศเอกหญิงกรรณิการ์ บัวเผื่อน ผู้อำนวยการกองการพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกันแถลงข่าวที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ชี้แจงกรณีเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์พยาบาลเพื่อมวลชน นักศึกษา ประชาชน เป็นกลุ่มพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลฯ ร้องเรียนกับ นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องการจัดการวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สำหรับบุคลากร แพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลภูมิพลฯ มีรายชื่อซ้ำซ้อน และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าไม่มีรายชื่อได้รับวัคซีน

โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ ชี้แจงว่า การบริหารวัคซีนไฟเซอร์และยืนยันรายชื่อผู้ฉีดวัดซีนเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาพบปัญหาข้อขัดข้องของข้อมูลมีรายชื่อตกหล่นและซ้ำซ้อน เนื่องจากเร่งรีบจัดทำในช่วงเวลาจำกัด ขณะนี้ได้แก้ไขและทบทวนรายชื่อใหม่แล้ว ขอให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนตามสิทธิ์ครบทุกคน

...

ส่วนกรณีมีการร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการบริหารวัคซีนไฟเซอร์ อาจเกิดความไม่โปร่งใสและไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลขอชี้แจงดังนี้

1. การสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนของบุคลากรและเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

1.1 วันที่ 19 ก.ค. 2564 โรงพยาบาลภูมิพลฯ สำรวจความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ครบ 2 เข็มแล้ว มีความต้องการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) หรือไฟเซอร์ โดยดำเนินการจัดส่งข้อมูลรายชื่อไปกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 และวัคซีนจัดส่งถึงโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 6 และ 9 ส.ค. 2564 รวม 304 ขวด และได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้นให้บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ในวันที่ 11, 13, 14 ส.ค. 2564 จำนวน 1,593 คน (ตามรายชื่อที่ได้ประกาศใน Facebook โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ. พร้อมวันที่ได้รับวัคซีน)

1.2 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ให้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เคยได้รับวัดซีนชนิดอื่น 1 เข็ม หรือยังไม่ได้รับวัดซีนเลย โดยเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 กรมควบคุมโรคได้ติดต่อประสานให้ โรงพยาบาลภูมิพลฯ พิจารณาส่งรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว โดยดำเนินการจัดส่งรายชื่อเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 จำนวน 610 เข็ม แต่ขณะนี้วัคซีนยังไม่ส่งมายังโรงพยาบาลภูมิพลฯ

2. การพิจารณาความสำคัญและลำดับการได้รับวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย บุคลากรหอผู้ป่วย EID, ER, 8/2,11/2,11/1,9/3,7/3,6/2,QCU,5/2 บุคลากรห้องตรวจโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) และห้องเก็บสิ่งส่งตรวจ (Swab Unit), เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ, เจ้าหน้าที่เปล, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย, เจ้าหน้า ที่รังสีเทคนิค, เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม, บุคลากรหออื่นๆ, บุคลากรห้องตรวจผู้ป่วยนอกอื่นๆ, เจ้าหน้าที่ประจำจุดคัดกรองเข้า-ออก, บุคลากรที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค รายชื่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่มี รวมถึงบุคลากรของกรมแพทย์ทหารอากาศ ที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสนาม กองทัพอากาศ, โรงพยาบาลสนามวัฒนาแฟคตอรี่, หน่วยสอบสวนโรคทำหน้าที่ Swab ภารกิจยุทธการ, ผู้ที่ช่วยฉีดวัดซีนในสถานที่กองทัพอากาศรับผิดชอบ และที่สถานีกลางบางชื่อ บุคคลเหล่านี้ในภาวะปกติจะปฏิบัติหน้าที่ back office แต่ในขณะนี้อยู่ในสภาวการณ์ฉุกเฉินจึงมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ไปช่วยเหลือประชาชน อาทิ เจ้าหน้าที่ธุรการทุกหน่วยจะปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จุดคัดกรองเข้า-ออก, ฝ่ายช่างโยธา โรงพยาบาลภูมิพลฯ ที่ต้องเข้าไปซ่อมสาธารณูปโภคต่างๆ ในห้องพักผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19

3. ปัญหาข้อขัดข้องของข้อมูลรายชื่อของผู้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ที่ตกหล่นและมีรายชื่อซ้ำซ้อน มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริง เนื่องจากความเร่งรีบในการดำเนินการรวบรวมชื่อให้กระทรวงสาธารณสุขในเวลาที่จำกัด รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่ไม่ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทาง Google Forms แต่ส่งข้อมูลมาผ่านหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงและหัวหน้าหอผู้ป่วย มายังผู้รับผิดชอบด้าน HR ของโรงพยาบาล ซึ่งเก็บข้อมูลโดย Excel อีกไฟล์หนึ่ง เมื่อนำมารวมกันทำให้เกิดความซ้ำซ้อน รวมทั้งการจัดการเก็บข้อมูล มีจำนวนมาก 2,800 รายเศษ ซึ่งจากข้อมูลไม่ครบถ้วนนี้ทำให้การกรองข้อมูลใน Excel เกิดข้อผิดพลาด โดยผู้บริหารทราบเรื่องนี้ เมื่อค่ำวันที่ 10 ส.ค. 2564 และรีบดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ตั้งทีมผู้รับผิดชอบเพื่อพิจารณาทบทวนรายชื่อใหม่ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารโรงพยาบาลภูมิพลฯ, ผู้อำนวยการกองการพยาบาล, หัวหน้ากองบริการ และผู้รับผิดชอบกำลังพลพยาบาล ร่วมกันตรวจสอบ เพื่อยืนยันสถานที่ปฏิบัติงาน ประวัติการฉีดวัคซีนซิโนแวค และประวัติการติดเชื้อโรคโควิด-19

...

ทั้งนี้ มีการประกาศรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนของผู้รับการฉีดวัคซีน จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย วัคซีนชุดแรก จำนวน 168 คน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 และดำเนินการทบทวนรายชื่อชุดที่สอง ในวันที่ 12 ส.ค. 2564 แล้วประกาศรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนของชุดที่สอง ในวันที่ 13-14 ส.ค. 2564 สำหรับรายชื่อที่เหลือชุดที่สาม ได้ทบทวนเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 15 ส.ค. 2564 และจะเริ่มฉีดวัคซีนชุดที่สาม ในวันนี้ (16 ส.ค. 2564) จนกว่าวัคซีนหมด หากมีการจัดส่งวัคซีนมาเพิ่มเติมก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทันที และหลังจากนี้หากยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติม สามารถแจ้งความจำนงที่จุดฉีดวัคซีนเพื่อรวบรวมรายชื่อส่งขอวัคซีนจากกรมควบคุมโรคต่อไป

4. โรงพยาบาลภูมิพลฯ ขอยืนยันว่า ไม่มีการนำวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้มาเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ไปฉีดให้บุคคลทั่วไปที่เป็น VIP ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และไม่มีการสวมสิทธิ์ ทุกขั้นตอนดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และยืนยันบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฉีดตามสิทธิ์ทุกคน สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ตามประกาศในเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ.

...