นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก เขตวัฒนาว่า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 2 กำหนดว่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินนั้น ยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร และที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะดังกล่าว จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร และที่ดินนั้นต้องว่าง เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกรถดับเพลิงได้โดยสะดวก

ดังนั้น หากที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ แม้จะไม่ได้อยู่ติดถนนสาธารณะก็ตาม แต่หากมีที่ดินแปลงอื่นที่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ สำหรับอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษนั้นได้ตลอดตราบที่อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตั้งอยู่ และรถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้สะดวกจะเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ. 2540) ข้อ 2 โดยที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความกว้าง 13.00 ม. (ไม่น้อยกว่า 12.00 ม.) ยาวตลอดถึงที่ตั้งอาคารและถนนอโศกมนตรี มีความกว้าง 27.70-30.00 เมตร (ไม่น้อยกว่า 18.00 เมตร) ยาวต่อเนื่องกันเชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิท ซึ่งมีความกว้าง 30.00 เมตร ได้เกณฑ์ตามกฎกระทรวง ภายหลังศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โครงการอาคารชุดดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับ จากกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีดังกล่าว เมื่อปรากฏแล้วว่า คดียังไม่ถึงที่สุด สำนักการโยธาจะพิจารณาดำเนินการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

...

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.64 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายกรณ์ จาติกวณิช เข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อยื่นหนังสือขอให้ระงับการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง เขตยานนาวา เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการกว่า 70 ครัวเรือน นายกรณ์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการ EIA ของ กทม. ที่เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ โดยเฉพาะปัญหาด้านการจราจร นอกจากนี้ กทม. ยังอนุมัติโครงการทั้งๆที่ถนนหน้าโครงการมีความกว้างต่ำกว่าเกณฑ์กฎหมาย จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม. ใช้อำนาจปฏิเสธการออกใบอนุญาต แต่หากมีการออกใบอนุญาตจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป ทั้งในศาลปกครอง ศาลแพ่งและศาลอาญา.