นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีทางหลวงสายสำคัญที่ตัดผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา ทำให้ยานพาหนะขนาดใหญ่ใช้เส้นทางนี้ผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา ส่งผลให้เกิดความแออัดขึ้นในการสัญจรย่านเขตเมือง กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ลักษณะโครงการเป็นวงแหวนรอบเมืองฉะเชิงเทรา ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 304 (สุวินทวงศ์-ฉะเชิงเทรา) ประมาณ กม.ที่ 71+982 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 หรือแยกสตาร์ไลท์ โดยพื้นที่ที่แนวเส้นทางพาดผ่าน ประกอบด้วยพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ฉะเชิงเทรา อำเภอคลองเขื่อน อำเภอบางคล้า และอำเภอบ้านโพธิ์

มีทางแยกต่างระดับในโครงการทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา จำนวน 8 แห่ง คือ 1.บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 365 (ทางแยกต่างระดับท่าไข่) 2.บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3200 (ทางแยกต่างระดับบางขวัญ) 3.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 304 (ทางแยกต่างระดับเสม็ดใต้) 4.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 315 (ทางแยกต่างระดับหนองบัว) 5.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 314 (ทางแยกต่างระดับประเวศ 1) 6. บริเวณจุดตัดทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 (ทางแยกต่างระดับประเวศ 2) 7.บริเวณจุดตัดทางหลวงชนบทสาย ฉช.2004 (ทางแยกต่างระดับบางเตย) 8.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 304 (ทางแยกต่างระดับวังตะเคียน) ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 3 แห่ง ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง 2 แห่ง ก่อสร้างจุดกลับรถ 29 แห่ง งบประมาณรวม 33,200 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 23,500 ล้านบาท ค่าเวนคืน 9,700 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2567 แล้วเสร็จปี 2570.

...