บริษัทรับเหมาในกรุงเทพฯ แห่ขอผ่อนผันก่อสร้างกว่า 400 ราย มีทั้งรถไฟฟ้า ทางลอด โรงพยาบาล กทม.พิจารณาอนุมัติแล้ว 346 ราย กำชับต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิดอย่างเคร่งครัด

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครออกประกาศเรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 35) (การผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภทและการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นั้น มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างให้กับโครงการภาครัฐ และเอกชน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทยอยส่งเอกสารขออนุญาตผ่อนผันตามประกาศฉบับดังกล่าวกว่า 400 ราย มีทั้งโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการทุกเส้นทาง โครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ โครงการทางลอดจรัญฯ-พรานนก โครงการปรับปรุงถนนสายหลัก โครงการก่อสร้างอาคารหอพักผู้ป่วย รพ.ต่างๆ รวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้มีการพิจารณาคำขออนุญาตโครงการ ที่เข้าข่ายตามประกาศ พร้อมกับเสนอ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาเห็นชอบแล้วจำนวน 346 ราย ส่วนบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา หากได้รับอนุมัติก็จะประกาศแจ้งให้ทราบต่อไป

นายไทวุฒิกล่าวว่า สำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตผ่อนผันตามประกาศ จะต้องนำเอกสารการขออนุญาตไปแจ้งต่อสำนักงานเขตในพื้นที่ที่รับผิดชอบพิจารณารายละเอียดเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หากได้รับความเห็นชอบจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการที่ขออนุญาตต่อไปได้ และต้องดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

...

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะมีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่กำหนด ทั้งตัวแรงงานก่อสร้าง แคมป์คนงาน ด้านสุขอนามัย การฉีดวัคซีน การดูแลสวัสดิการด้านการประกันสังคม เป็นต้น โดยจะเริ่มทยอยตรวจตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.นี้เป็นต้นไป และจะต้องให้แล้วเสร็จภาย ในวันที่ 25 ก.ค. ซึ่งครบกำหนดตามประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด ห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ระยะเวลา 14 วัน อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูที่ประชุม ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะมีมติยกเลิกหรือขยายระยะเวลาประกาศดังกล่าวออกไปอีกหรือไม่.