"ไสลเกษ" ชี้ ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ เป็นเคสที่กระตุ้นให้เกิดร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม เอาผิดได้ทั้งผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่อนุญาต


กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ย่าน ซ.กิ่งแก้ว 21 ได้เกิดกระแสความคิดว่า จะเป็นโมเดลผลักดันกฎหมายคุ้มครองชีวิตประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจน ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมในประเทศ เครื่องมือในการบังคับ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มีความเป็นเสือกระดาษ เพราะยังไม่มีกฎหมาย "วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม" ที่เป็นตัวกำหนดกติกา มีปัญหาว่า จนบัดนี้กฎหมายไปคาอยู่ที่ใด จะทันใช้ในชาตินี้หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 นายไสลเกษ วัฒนพันธ์ อดีตประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เปิดเผยว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง กระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เรามีแนวคิดจะเปิดศาลสิ่งแวดล้อมมาแล้วแต่ติดที่ว่าจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม หรืออยู่ในอำนาจศาลปกครอง ซึ่งไม่คิดว่าจะเป็นการแย่งงานกัน แต่ขอให้ตั้งโดยเร็วเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดในอนาคต ในสมัยที่ตนเป็นประธานศาลฎีกา จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ "ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม" เพื่อลดโทนลง และเราทำเสร็จแล้วทบทวนหลายรอบจนเสนอให้รัฐบาลซึ่งมีอำนาจไปตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร คือเราบอกว่า ศาลสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะอยู่ที่ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครองก็ได้เราไม่สน แต่เราต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมที่ใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้คดีที่ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมีความรวดเร็ว มีการบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพ จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้

...

นายไสลเกษ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความพิเศษ ตรงที่นอกจากจะบังคับเอาค่าเสียหายจากเอกชน ผู้ประกอบการที่ประมาท เลินเล่อ แล้วยังมีหลักการว่าหากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลโรงงาน หรือกิจการที่ละเมิดก่อความเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว หากหน่วยงานละเลยไม่ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายก็ถือว่าได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มีโทษ และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย สามารถเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐได้ นอกจากจะเรียกจากผู้ประกอบการไปแล้ว ดังนั้นต่อไปนี้หน่วยงานของรัฐจะต้องไม่ดูอยู่เฉยๆ ต้องลงมาเล่น

"ตัวอย่างเช่น ศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศอินเดีย โจทก์เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ได้ฟ้องผู้ประกอบการ กับฟ้องหน่วยงานรัฐบาล ศาลเขาพิพากษาให้ผู้ประกอบการแล้ว ใช้ค่าเสียหายแล้ว ศาลยังให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์และให้กระทำการตามที่โจทก์ร้องขออีก 4 ถึง 5 รายการ หลักการคือ "ใครก่อมลพิษต้องชดใช้" และเรื่องภาระการพิสูจน์ ซึ่งพยานหลักฐานอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ กฎหมายนี้จึงให้ผู้ประกอบการ คือ จำเลยมีภาระการพิสูจน์ว่าตนเองไม่ก่อมลพิษ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้คือต้องแพ้ และหากพบว่า โรงงานใดมีการปล่อยสารปนเปื้อนในอากาศ พื้นดิน หรือน้ำ ลงในแหล่งสาธารณะโดยปราศจากการคัดกรอง แล้วสารปนเปื้อนได้สะสมในร่างกาย อย่างที่จะแสดงอาการในขณะยื่นฟ้อง กฎหมายก็จะขยายเวลาการแสดงปรากฏอาการเจ็บป่วย ออกไปโดยศาลจะสงวนสิทธิ์ระยะเวลาในการบังคับแก่คดีออกไป อีกทั้งค่าปรับที่จะลงโทษนั้น และคำพิพากษาในเชิงลงโทษผู้ประกอบการจ่ายเพิ่ม หากที่โจทก์ขอมานั้นไม่เหมาะสมศาลสามารถกำหนดให้สูงขึ้นหรือกำหนดให้ถูกต้องได้ อย่างในศาลสหรัฐฯ เขาขยายได้ถึงสิบปี ก็จะตามได้" อดีตประธานศาลฎีกา กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาทันในยุคนี้ จะแก้ปัญหาทันการและตรงจุดหรือไม่ นายไสลเกษกล่าวว่า ถ้ากฎหมายออกมาเร็ว ก็จะครอบคลุมในกรณีอย่างไฟไหม้โรงงานครั้งนี้ด้วย กล่าวคือ หน่วยงานของรัฐต้องออกมาดูแล วางมาตรการต่างๆซึ่งจะช่วยได้มาก ทุกวันนี้การใช้กฎหมายยังขาดความชัดเจน เจ้าหน้าที่รัฐก็กังวล และไม่ทราบว่าจะทำได้เพียงใด ตัวอย่างคดีสารตะกั่วรั่วไหลลงแหล่งน้ำที่บ้านคลิตี้ เหตุเกิดมาเป็นสิบปี ศาลฎีกาพิพากษาเป็นที่สุดไปตั้งนาน แต่จนบัดนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขสภาพพื้นดินสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนดีดังเดิมได้เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยใดออกมาทำ และไม่มีการกำหนดความชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด

อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวอีกว่า ถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา จะทำให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาสิ่งแวดล้อม ที่จะกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจโดยตรงในการเข้าไปจัดการ และถ้าไม่ทำก็จะมีบทลงโทษ (ทางแพ่งและอาญา) ดังนั้นเมื่อกฎหมายวิธีพิจารณาคดีฯ ออกมาบังคับใช้กับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ก็ต้องมีผู้มีอำนาจรักษาการตามกฎหมาย ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ตนจำเนื้อหาไม่ได้แต่ในใจเพื่อให้สมศักดิ์ศรีกับปัญหาระดับชาติก็ควรให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย

...

"มันถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจผลักดันกฎหมายนี้ออกมาใช้ เพราะจะทันกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน กฎหมายมีเจตนารมณ์สร้างความถูกต้องคุ้มครองชาวบ้านไม่ได้มุ่งจะลงโทษผู้ประกอบการ แต่จะเป็นการสร้างความชัดเจนในการที่จะเข้ามาลงทุน เมื่อเขาทราบว่าเขาต้องทำอย่างไร เขาก็จะได้ไปวางแผนการลงทุนกำหนดต้นทุนของเขาให้เหมาะสม ก็จะได้แฟร์ๆ กัน ส่วนตัวเองก็จะเร่งผลักดันร่างกฎหมายจนเสร็จ แล้ว ไม่อยากให้มองว่าเป็นการแย่งอำนาจกัน ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง เราก็อยากได้ ศาลปกครองก็อยากได้ ตอนนี้มีร่างกฎหมายที่เหมาะเป็นกลางแล้ว ทุกคนต้องช่วยกันรณรงค์ให้กฎหมายออกโดยเร็ว" นายไสลเกษ กล่าว.