โควิดระลอกเมษายนจนถึงปัจจุบัน คร่าชีวิตบุคลากรทางการแพทย์แล้ว 4 ราย พร้อมเผยข้อมูล ผู้ติดเชื้อ 100 ราย จะมี 5 รายปอดอักเสบ และ 1-2 รายเสียชีวิต

วันที่ 2 ก.ค. 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยถึงรายงานบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตในระลอกการติดเชื้อตั้งแต่ 1 เม.ย. - 1 ก.ค. 2564

  • แพทย์ 1 ราย
  • ทันตแพทย์ 1 ราย
  • พนักงานโรงพยาบาล 1 ราย
  • เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 ราย

ทั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และขอให้ผู้ป่วยอย่าปกปิดข้อมูล เพราะบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เสียชีวิต 1,322 ราย และผู้ป่วยมีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง 1,614 ราย

สำหรับตัวเลขสรุปคร่าวๆ ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในจำนวนผู้ป่วย 100 ราย จะพบ 5 ราย (หรือคิดเป็น 5%) มีรายงานปอดติดเชื้อ (อาการเชื้อ) และ 2 ใน 5 รายนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และจำนวนผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใน 10 ราย จะมี 1-2 รายเสียชีวิต

...

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องวางมาตรการในการจัดการเตียง โดยเน้นย้ำไปที่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ในจำนวนนี้หากเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ก็จะมีความเสี่ยงในการป่วยหนัก และอาจจะมีอัตราในการเสียชีวิตค่อนข้างสูง จึงต้องเน้นย้ำใน 2 มาตรการหลัก คือ เพิ่มเตียง และระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในเดือน ก.ค. 2564