จากป่าสู่บ้าน กรมวิชาการเกษตรขยับเต็มตัวปลุกงานวิจัย พันธุ์กัญชา-กัญชง หลังพันธุ์กัญชาเต็มเมืองแต่ไร้ข้อมูลวิชาการเกษตร ย้ำไม่เกินปลายปีพรึบทั้งพันธุ์ ทั้งคำแนะนำพร้อมแผนที่ให้ประชาชนพิจารณา บ้านใครเหมาะไม่เหมาะ

เมื่อวันที่ 6 เม.ย.64 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงงานขับเคลื่อนงานกัญชา ของกรมวิชาการเกษตร(กวก.) ว่า หลังมีนโยบายในเรื่องการส่งเสริมการปลูกกัญชา-กัญชง กรมได้จับมือทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)อย่างใกล้ชิดภายใต้กฎหมายที่รองรับ ซึ่งกรมมีภารกิจในการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ การหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นอกจากนั้นยังต้องมีมาตรการควบคุมตามกฎหมายของกรมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การส่งเสริมการปลูกกัญชา-กัญชงของประเทศสามารถที่จะเอื้อประโยชน์กับประชาชน เกษตรกรให้ได้มากที่สุดและมีส่วนในการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้สมกับเจตนารมณ์ของโครงการ

นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการพืช กล่าวว่า งานขับเคลื่อน กัญชา-กัญชง นั้นจะเน้นในระดับต้นน้ำ จึงเน้นเรื่องการวิจัยพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและให้ผลผลิตที่ตรงความต้องการของประเทศมากที่สุด งานวิจัยของกรมจะมี 2 รูปแบบประกอบด้วย

...

1. จับมือสถาบันการศึกษาคือมหาวิทยาสุรนารี และ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน 2. กรมวิจัยเองจะทดลองใน 3 รูปแบบ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำถึงการเก็บเกี่ยวเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปลูกทุกสภาพพื้นคือ 1. การปลูกแบบเซมิอินดอร์ในโรงเรือนของ กวก. ที่บางเขน ที่ปรับปรุงอาคารเก่าอยู่ระหว่างให้สำนักงานอาหารและยา(อย.) ตรวจรับรองก่อนหากผ่านใน เม.ย.นี้ จะเริ่มปลูก จุดนี้จะทดลองปลูกทั้งกัญชา-กัญชง ได้ผลผลิตคือเมล็ดในเดือน ต.ค.-พ.ย.จากนั้นกรมจะนำมาคัดพันธุ์และเข้าสู่กระบวนการขอจดทะเบียนรับรองพันธุ์ ซึ่งจะเป็นพันธุ์แรกของ กวก.

2. ทดลองปลูกในระบบปิดที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ทั้งกัญชา-กัญชง ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอาคารเพาะปลูกและส่วนจัดแสดง ตั้งแต่การเพาะเมล็ดถึงเก็บเกี่ยว จะแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนให้ประชาชนชมผ่านห้องกระจกเข้าไปเท่านั้น และ 3.การทดลองปลูกเฉพาะกัญชง แบบเซมิอินดอร์ เพื่อเอา CBD และในแปลงเปิดเพื่อเอาเกรน ในพื้นที่ศูนย์วิจัยการเกษตร 36 แห่ง และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร(สวพ.) ทั่วประเทศ เพื่อวิจัยหาสายพันธุ์ทุกสภาพพื้นที่ ที่ให้ผลผลิตที่ดี ทั้งชนิดให้สาร CBD และพันธุ์ที่ให้เกรน และชนิดใดให้สาร THC น้อยกว่า 1 ซึ่งกัญชงจะสามารถป้อนระบบอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และเครื่องสำอางได้ในอนาคต

ผลผลิตในระยะแรกในต.ค.-พ.ย.ปี 64 จะมี 2 แบบคือเมล็ดและกิ่งตัดชำ จากต้นกล้าพันธุ์ดี กรมจะนำมาจัดการให้กับสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ ที่เข้าโครงการภายใต้เงื่อนไข สธ. และ กวก.ได้จัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกแบ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด ปานกลาง พอใช้ และไม่เหมาะสม ทำคู่มือแนะนำในการปลูกให้กับเกษตรกร ในระยะที่สองกรมจะพัฒนาการปลูกแบบเพาะเนื้อเยื่อ ในระยะต่อไปจะ ยกระดับแปลงปลูกสู่มาตรฐานแปลงจีเอพี นอกจากนั้น กวก.ได้ร่วมกับ สธ. ในโครงการ กัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล กับเกษตรกร 7 รายล่าสุด สธ.อยู่ระหว่างพิจารณาขยายโครงการ

สำหรับภารกิจภายใต้กฎหมายของกวก. คือ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 สำหรับงานควบคุมการนำเข้า-ส่งออก และตรวจสอบแมลงศัตรูพืชฯลฯ ล่าสุดคณะกรรมการพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาให้ กัญชา-กัญชง เป็นพันธุ์พืชควบคุ ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช มีผลให้การนำเข้า-ส่งออกต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้.