"บิ๊กธนารักษ์" พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงอาคารโบราณ "โรงภาษีร้อยชักสาม" เพื่อพัฒนาเป็นโรงแรมหรู ระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว ในการทำพื้นที่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วย นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ นางสาวสุภัทรา ส่องประทีป ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจและศักยภาพที่ราชพัสดุ นายคณาวุฒิ สิติธีรพันธุ์ ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร นายบุญชอบ วิเศษปรีชา ผู้อำนวยการกองพัฒนาและบำรุงรักษาอาคารราชพัสดุ นางพวงพกา ร้อยพรมมา เลขานุการกรม และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงอาคารโบราณ "โรงภาษีร้อยชักสาม" ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.043314 แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาเป็นโรงแรมหรู ระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว

นายยุทธนา กล่าวว่า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงภาษีร้อยชักสามเกิดจากความร่วมมือของส่วนราชการต่างๆ ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนาจำเป็นต้องย้ายส่วนราชการออกจากพื้นที่ โดยกองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้โยกย้ายไปยังที่ราชพัสดุแปลงถนนเจริญนคร 53 และกรมศุลกากรได้โยกย้ายไปยังที่ราชพัสดุแปลงเชิงสะพานกรุงเทพ

...

ทั้งนี้ โรงภาษีร้อยชักสาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมานับตั้งแต่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาบาวริงกับรัฐบาลอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1855 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตก มีผลให้ไทยต้องจัดตั้งศุลกสถาน (CUSTOMS HOUSE) หรือโรงภาษีขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละสาม (ร้อยชักสาม) และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ท้ายสัญญา ในราวปี พ.ศ. 2427 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารศุลกสถานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสินค้าหนีภาษีและการจัดเก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งออกแบบโดยโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกผู้ถือสัญชาติฝรั่งเศส โดยในอันดับแรกได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นสองหลังขนาบบ้านเดิมของพระยาอาหารบริรักษ์ ตึกแบบจีนที่ใช้เป็นโรงภาษีมาแต่เดิม เป็นอาคารยาวสูงสองชั้น วางผังตั้งฉากกับแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารด้านทิศเหนือเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก หลังด้านทิศใต้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและที่ทำการไปรษณีย์

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2430 ได้รื้ออาคารเก่าแบบจีนตรงกลางลง แล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้น ในช่วงปี 2431-2433 เป็นอาคารศุลกสถานซึ่งเป็นที่ทำการของกรมศุลกากรตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึง พ.ศ.2492 กรมศุลกากรจึงย้ายไปอยู่ที่คลองเตย ต่อมาในปีเดียวกันจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์เป็นที่ทำการตำรวจน้ำและสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก

สำหรับความเป็นมาและความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ นายยุทธนา ได้กล่าวเพิ่มว่า เนื่องจากที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวมีศักยภาพสูงมาก และมีอาคารโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และต่อมาได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับกิจการร่วมค้าฯ นำโดยบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 โดยกิจการร่วมค้าฯ จะต้องพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว พร้อมปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโบราณสถานเพื่อเป็นโรงแรม ระดับไม่ต่ำกว่า 5 ดาว มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,040.57 ล้านบาท พร้อมก่อสร้างอาคารชดเชยให้กับกองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมศุลกากร รวมถึงชำระผลประโยชน์ให้กับทางราชการตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ ในส่วนของการก่อสร้างอาคารชดเชยให้กรมศุลกากร กิจการร่วมค้าฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังแล้ว และกรมธนารักษ์ได้ส่งมอบที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวพร้อมอาคารชดเชยให้กรมศุลกากรเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 สำหรับอาคารชดเชยให้กองบังคับการตำรวจน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างกิจการร่วมค้าฯ ดำเนินการก่อสร้าง (ผลการก่อสร้างแล้วเสร็จ 81.39%) ซึ่งกิจการร่วมค้าฯ จะต้องก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2564

ในส่วนของการปรับปรุงอาคารโบราณสถาน "โรงภาษีร้อยชักสาม" กิจการร่วมค้าฯ ได้รับการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรูปแบบการบูรณะอาคารโบราณสถานจากกรมศิลปากรแล้ว ในส่วนของการก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ก็ได้รับการพิจารณาแบบแปลนจากกรมธนารักษ์แล้วเช่นกัน

...

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กิจการร่วมค้าฯ จัดส่งแบบแปลนให้กรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป โดยกิจการร่วมค้าฯ จะต้องปรับปรุงอาคารโบราณและก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นจึงเริ่มต้นบริหารโครงการตามข้อกำหนดในสัญญาต่อไป

นายยุทธนา ยังได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกล่าวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของกรมธนารักษ์ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี