"กระทรวงศึกษาธิการ" จับมือ "กระทรวงสาธารณสุข" ผสานพลังพัฒนาหลักสูตรอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากส่วนของกัญชา กัญชง สู่ "ตำรับยิ้ม" เปิดโอกาสเชฟ ทั่วประเทศ ร่วมเรียนรู้

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการเรียนรู้ การประกอบธุรกิจจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 หน่วยงาน ณ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

...

โดย ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า หลังจากมีประกาศปลดล็อกบางส่วนของ "กัญชา" และ "กัญชง" ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอกและเมล็ดกัญชา โดยส่วนที่นำมาใช้นั้น ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ซึ่งไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เปิดตำรับ "เมนูกัญชา" ปลดล็อก-ต่อยอด สู่อาหารสุขภาพที่ยั่งยืน จนนำไปสู่ "การเปิดครัวตำรับยิ้ม" โดยให้เชฟทั่วประเทศได้ลงทะเบียนร่วมเรียนรู้ โดยจะครอบคลุมในทุกผลิตภัณฑ์และบริการที่กัญชาและกัญชงมีศักยภาพ และปัจจุบันก็มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางของพืชกัญชาและกัญชง ทั้งการรักษาโรคและการส่งเสริมสุขภาพ มีการศึกษาในต่างประเทศว่าการบริโภคกัญชา กัญชง ปริมาณน้อยๆ จะช่วยเสริมฤทธิ์การทำงานของสารกัญชาในร่างกาย ทำให้มีสมาธิและมีความคิดสร้างสรรค์ แต่การใส่ในปริมาณมากก็อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้การใช้ดั้งเดิมของคนไทย และเป็นไปตามองค์ความรู้ดั้งเดิมและงานวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการโดย สำนักงาน กศน.และกระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริม พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อผู้เรียน และประชาชนอย่างยั่งยืนโดยร่วมส่งเสริม สนับสนุน ศึกษา ค้นคว้าและพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการหน่วยงาน องค์กร นักศึกษา ประชาชน และเครือข่าย ตลอดจนร่วมจัดกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการพัฒนาหลักสูตร โดยเน้นการผสานภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยกับงานวิจัยสมัยใหม่ เพื่อทำให้หลักสูตรมีความถูกต้อง ปลอดภัยและทันสมัย ในระยะแรกหลักสูตรจะเน้นเรื่องการพัฒนาหลักสูตรธุรกิจอาหารสุขภาพ และจะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สุดท้ายเป็นเรื่องสปาและการท่องเที่ยวในระยะต่อไป โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข สามารถประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านหลักสูตรเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และการใช้ประโยชน์จากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้น จากการเป็นยาเสพติดแก่ผู้ที่สนใจต่อไป