ภาพจากเฟซบุ๊ก สำนักงานศาลปกครอง

ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคดี Fit to Fly ไว้พิจารณา ตามที่มีคนไทยยื่นฟ้อง ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ เป็นคดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ควรรับไว้พิจารณา

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.63 ที่เฟซบุ๊กอานนท์ มาเม้า Arnon Mamout ของ รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง ศูนย์กฎหมายมหาชน และศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความระบุถึงข่าวสำคัญเกี่ยวกับกรณีที่
ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น โดยสั่งให้รับคดี Fit to Fly ไว้พิจารณา ตามที่มีคนไทยยื่นฟ้องศาลปกครองกลางผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขอเพิกถอนประกาศของกรมการบินพลเรือน ที่ให้คนไทยที่จะกลับไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly Certificate) และหนังสือรับรองจากสถานทูตไทย 

โดยเนื้อหาคำร้อง ทักท้วงคำสั่งของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ที่ออกมาตรการสำหรับคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำร้องไว้ โดยอ้างอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่านี่เป็นคดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ควรให้รับคำร้องไว้พิจารณา

รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า ภาพจากเฟซบุ๊ก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า ภาพจากเฟซบุ๊ก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

...

ข่าวดีคดี Fit to Fly :

ผมขอแสดงคาราวะต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องด้วยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นโดยให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 334/2563)

ผมได้รับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมาจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง อ่านความโดยตลอดแล้ว เห็นด้วยกับการใช้เหตุผลของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ความโดยย่อของคำสั่งนี้ คือ “ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ประกาศ ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563 มีสถานะเป็นกฎ

แม้หลังจากประกาศแล้ว มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้ประกาศข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในวันเดียวกัน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ลักษณะเดียวกันกับประกาศสำนักงานการบินพลเรือนฯ

แต่เมื่อประกาศดังกล่าวออกตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มิใช่กรณีการกระทำตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่จะทำให้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว

และถึงแม้ว่าประกาศพิพาทจะมีสาระสำคัญเช่นเดียวกันกับข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินก็มิได้ทำให้ประกาศพิพาทสิ้นผลไป และไม่ทำให้หากศาลปกครองจะมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศพิพาทแล้ว จะมีผลเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากประกาศพิพาทและข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการกระทำทางปกครองที่แยกต่างหากจากกัน

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา.