ตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศ ร้องเรียนขอความเป็นธรรม อย่าลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชน วอนนายกรัฐมนตรี รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง ขู่ต้านใหญ่ทั่วประเทศ หากกติกาหนุนกลุ่มทุน

จากกรณีที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจาก 8 จังหวัด คือ ขอนแก่น, อุดรฯ, หนองคาย, เลย, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ, กาญจนบุรี และอุบลฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถึง รมต.กระทรวงพลังงาน ถึง ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), ถึงอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน (พพ.) และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อคัดค้านวิธีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน และการลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชน จาก 600 เมกะวัตต์ เหลือ 150 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานนำเสนอให้มีการเปิดประมูลแทนการจับสลาก และให้ลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชน จาก 600 เมกะวัตต์ เหลือ 150 เมกะวัตต์นั้น

ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพลังงานไทยลดโลกร้อน ระบุว่า นอกจากกระทรวงพลังงานจะเสนอให้มีการลดโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ แล้วยังเสนอให้มีการประมูลเปิดทาง กลุ่มทุนเดิมๆ อีกด้วย ควรใช้วิธีการจับสลากซึ่งโปร่งใสทุกฝ่ายรับได้ ต่อไปในอนาคตจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ควรมีการเตรียมความพร้อมเรื่องโรงไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นทางออกที่ดี กระทรวงพลังงานควรมีวิสัยทัศน์

...

ศ.ดร.สุนทร ยังได้วอนให้รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักในเรื่องนี้ และรับฟังข้อเท็จจริงจากเกษตรกรด้วย เพราะที่ผ่านมาท่านนายกฯ ได้ใจเกษตรกรมาตลอดกับโครงการ Solar Farm “จึงอยากวิงวอนให้ท่านนายกฯ ได้ยินเสียงของพวกเกษตรกรบ้าง ซึ่งถือเป็นการกระทำความดีครั้งสำคัญ เพราะจะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก มีเศรษฐกิจที่ดี และอย่าคิดเล็กคิดน้อยกับโครงการประชารัฐเลย ผมว่าควรเพิ่มโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 1,000 เมกะวัตต์ด้วยซ้ำ”

นายสมณัณท์ ใสสว่าง ผู้นำเกษตรกร จ.หนองคาย กล่าวว่า ตนมาทวงสิทธิ์โควตาที่เป็นธรรม ทวงสิทธิ์ความโปร่งใส เสมอภาค ทวงสิทธิ์ความยุติธรรมให้เกษตรกร ร้องเรียน นายกฯ พิจารณาโควตาและวิธีการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชน พวกตนเกษตรกร 80% ของพลเมืองไทย ประมาณ 40 ล้าน เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ส่วนใหญ่ยากจน สวัสดิการต่างๆ ก็แทบไม่มี จึงอยากถามกระทรวงพลังงานทำไมไม่ทำตามเจตนารมณ์ของนายกฯ ปกติโครงการประชารัฐสหกรณ์กับ Solar Farm ก็ใช้วิธีการจับฉลากทั้ง 2 เฟส ที่ผ่านมาเรียบร้อยพิสูจน์ได้ โปร่งใส ทุกฝ่ายรับได้พอมาถึงโครงการนี้กลับจะใช้วิธีการประมูลซ่อนรูปแฝงเพื่อให้กลุ่มทุนเดิมเข้ามาแบบผูกขาด พวกผมเกษตรกรไม่มีกำลังเงินขึ้นมาเรียกร้องบ่อยๆ แต่เรื่องนี้พวกเราสรุปว่าครั้งต่อไปคงต้องล่ารายชื่อเกษตรกร 1 ล้านคน เรียกร้องใหนายกฯทบทวนกับพวกที่ให้ข้อมูล เพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของท่านนายกฯ และอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เพื่อให้ท่านตรวจสอบ

ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกรขอเรียกร้อง ดังนี้ 1.ขอให้คงโควตาเดิม 600 เมกะวัตต์ ตามที่เคยผ่าน ครม.อนุมัติแล้ว 2.ขอให้ใช้วิธีการจับสลากเพื่อความโปร่งใส เสมอภาค เป็นธรรม

ด้านนายวิชาญ กันยวิมล ประธานวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยอินทรีย์พิบูลรักษ์ อุดรธานี กล่าวว่า อยากให้ “กระทรวงพลังงานควรมีวิสัยทัศน์กว้าง เป็นธรรม และสนองเจตนารมณ์ท่านนายกฯ ที่ต้องการวางรากฐานและหลักประกันชีวิตให้ลูกหลานเกษตรกร 25 ปี” รัฐบาลเองก็มีปัญหาจากการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ มวลชนต่อต้านเพราะกลัวมลพิษ โรงไฟฟ้าชุมชนจึงเป็นความหวังของเรา ดีใจที่มีโครงการนี้ พวกเราจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน ฝันที่เป็นจริงพวกเราคนอีสานรักนายกฯมาก โดยเฉพาะท่านไม่เคยทิ้งภาคเกษตรเลย ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมกระทรวงพลังงานและหน่วยงานราชการที่คุมนโยบายพลังงานประเทศ จึงพยายามเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญหา ควรมีวิสัยทัศน์กว้าง เป็นธรรม และสนองเจตนารมณ์ นายกฯที่ท่านตั้งใจให้โครงการนี้เป็นสวัสดิการของเกษตรกรที่มีมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ของประเทศ นายกฯจึงวางรากฐานหลักประกันให้รุ่นลูกรุ่นหลานถึง 25 ปี อย่าลดโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ อย่าใช้วิธีการประมูล เพราะจะทำให้พวกทุนสามานต์เข้ามาผูกขาด ควรใช้วิธีการจับสลากซึ่งโปร่งใส คนไม่ได้ก็ไม่เสียใจ ยุติธรรม เสมอภาค.

...