ท่ามกลางกระแสยกเครื่องปรับโฉม “หมอชิตเก่า” ด้วยโปรเจกต์ “คอมเพล็กซ์” ของ “บริษัทเอกชน” ผู้เช่าพื้นที่พัฒนาจาก “กรมธนารักษ์” ดำเนินการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ดินราชพัสดุ ที่ BTS ใช้ประโยชน์ในขณะนี้

ตัวโครงการนี้มีเนื้อที่ “ในคอมเพล็กซ์” สูง 36 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 82,193 ตร.ม. ส่วนประกอบ ศูนย์การค้า สำนักงาน ศูนย์ประชุม โรงแรม รองรับผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้า รถเมล์ รถโดยสารสาธารณะ และพัฒนาบางส่วนรองรับ บขส.ย้ายจากถนนกำแพงเพชร 2 กลับเข้ามาให้บริการจุดนี้

สอดรับ “บิ๊กโปรเจกต์” ด้วยการสร้างทางยกระดับเข้าสถานีเชื่อมต่อถนนสายหลัก ทั้งทางยกระดับบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนพหลโยธิน รวมถึงทางเชื่อมยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารรองรับรถโดยสาร และรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการฯ

กลายเป็นปัญหา “ทุกข์ระทมใจของชาวบ้าน” ที่ถูก “เวนคืนที่ดิน” เพื่อใช้ดำเนินการโครงการทางยกระดับเข้าสู่สถานีเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก ตาม ครม.เสนอให้ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. ตั้งแต่ปี 2542 มีการต่อ พ.ร.ฎ.เวนคืนทุก 4 ปี โดยเฉพาะซอยวิภาวดีรังสิต 5 ระยะ 530 เมตร 35 แปลง

...

เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอด และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับชาวบ้านมานานกว่า 20 ปี...

ล่าสุด ครม.เสนอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินฯ ลงวันที่ 20 ส.ค.2563 นี้ “ทีมข่าวสกู๊ปหน้า 1” ลงพื้นที่ในซอยวิภาวดีรังสิตซอย 5 ปรากฏว่า ตามบ้านมีติดป้ายประท้วงคัดค้านการย้าย บขส. จากถนนกำแพงเพชร 2 กลับมายังหมอชิตเก่าที่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสอย่างเข้มแข็ง

ตัวอย่างข้อความป้าย...คัดค้านสร้างทางยกระดับให้นายทุน พวกเราคัดค้านเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สถานีหมอชิต 2 อยู่ใกล้สถานีกลางบางซื่อ ดีอยู่แล้วย้ายมาเพื่ออะไร? เพื่อส่วนรวม หรือเพื่อผลประโยชน์ของใคร ภาษีประชาชนหลายพันล้าน เพื่อผลประโยชน์ใคร? เล่ห์เหลี่ยมนายทุน หลอกให้ กทม.สร้างทางให้ใช้ฟรีๆ

หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนยักษ์ใหญ่ เอาเงินภาษีประชาชนไปสร้างทางให้นายทุน หน่วยงานรัฐ และนายทุนยักษ์ใหญ่ กำลังจะมาปล้นเอาบ้าน และที่ดินของพวกเราไปสร้างถนนเพื่อเอื้อนายทุน

ตามที่สอบถาม “ชาวบ้าน” มองว่า...โครงการนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ที่สัมปทานในการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณขนส่งหมอชิตเก่า เพราะโครงการมีขนาด 36 ชั้น แบ่งการใช้งานให้ บขส. 2 ชั้น คือ ชั้น 2 ชั้น 3 เป็นสถานีปล่อยรถ บขส. สำนักงาน บขส.อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีสัดส่วนไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ในพื้นที่อีก 85 เปอร์เซ็นต์ ถูกจัดให้เป็นพื้นที่การพาณิชย์คอมเพล็กซ์ ทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม อีกทั้งยังใช้ บขส. ในฐานะสาธารณประโยชน์เป็นเครื่องมือเอื้อประโยชน์ให้ “เอกชน” ด้วยการนำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างทางยกระดับเข้าสู่สถานีเชื่อมต่อกับถนนสายหลัก

การย้าย บขส.กลับมาอยู่ในโครงการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างทางยกระดับ เพื่อเป็นทางเข้าออกจากโครงการคอมเพล็กซ์ เพราะมีการสัญจรของรถ บขส. 600 คันต่อวัน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในแนวทางยกระดับต้องถูกเวนคืนที่ดินได้รับความเดือดร้อน

ผู้รับผลกระทบเวนคืนที่ดินนี้ วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ตัวแทนชาวบ้าน เล่าว่า เรื่องนี้ชุมชนวิภาวดีรังสิต 5 ต้องทนทุกข์มา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 ที่ทราบว่าจะมีการพัฒนาโครงการคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่หมอชิตเก่า ทำให้ต้องเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น ยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า

ข้ออ้างมีอยู่ว่า...“แก้ปัญหาการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณห้าแยกลาดพร้าว” จำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน เพื่อทำทางเชื่อมลอยฟ้าระหว่างโครงการฯ ตัดดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่ “ชาวบ้าน” มองว่า วิธีนี้แก้ปัญหาจราจรติดขัดไม่ถูกจุด แม้เวนคืนที่ดินทำถนนลอยฟ้าไปแล้ว ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์การจราจรหนาแน่นดีขึ้นได้

ดังนั้น “ชาวบ้านในชุมชน” ก็รวมกลุ่มกัน “คัดค้านการเวนคืนที่ดิน และก่อสร้างถนนลอยฟ้า” อีกทั้งยังได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ กทม. มาตลอดทุก 4 ปี ที่มีการต่อ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินนี้...

ต่อมาราวปี 2557 “เจ้าหน้าที่ กทม.” ได้สำรวจความเห็นของชาวบ้าน และทุกคนก็ยืนยันคัดค้านอีก ในปี 2562-2563 กระทรวงคมนาคม และกรมธนารักษ์ งัดข้อตกลงระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน ที่มีหลักความจำเป็นต้องทำถนนลอยฟ้าในการพัฒนา “โครงการคอมเพล็กซ์” บนพื้นที่หมอชิตเก่า เพื่อนำ บขส.กลับมาพื้นที่เดิมตามสัญญา...

อีกทั้งยังมี “บริษัทปรึกษาโครงการฯ” เข้ามารับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ในเอกสารนี้ระบุหัวกระดาษว่า เพื่อประชาสัมพันธ์ความคิดเห็น มีการเชิญรับฟังกันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แม้เป็นเช่นนั้น “ทุกคน” ก็ยืนยัน “คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการเวนคืนที่ดินทำถนนยกระดับ” เช่นเดิม

...

พูดกันแบบตรงๆ...“ชาวบ้านเดือดร้อนมา 20 ปี” นับแต่ประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินในซอยวิภาวดีรังสิต 5 ครั้งแรก เสมือนเราถูก “ต้องคำสาป” ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดใดๆได้เลย แม้แต่จะขาย หรือโอนบ้าน ในส่วน “คนอยู่ก็ทุกข์ใจแสนสาหัส” ทั้งกินไม่ได้นอนหลับไม่สนิท เพราะกังวลพื้นที่มีความเสี่ยงถูกเวนคืนที่ดินได้ทุกเมื่อ

ทว่า...“บางคน” ประสงค์ต้องการลงทุน หรือขยายธุรกิจตัวเอง ก็ขาดความเชื่อมั่นไม่กล้าเสี่ยงลงทุนใดๆ แม้แต่การบำรุงรักษาบ้านพักอาศัย ก็ยังไม่ทุ่มซ่อมแซมมากมาย ส่งผลให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมผุพังบ้าง อีกทั้งชุมชนยังไม่ได้รับการพัฒนาจาก “ภาครัฐ” จนกลายเป็นปัญหากลางซอย เกิดน้ำท่วมบ่อยๆตามมา...

“เจ้าของที่ดินบางแปลงทนไม่ไหว ก็ปล่อยให้ถูกยึดที่ดินก็มี แต่ถ้าเดินจากซอยวิภาวดีรังสิต 5 ออกไปพื้นที่ใกล้เคียงไม่ถึง 50 เมตร กลับกลายเป็น “ทำเลทอง” กำลังถูกพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตผุดขึ้นราวดอกเห็ด ทั้งอาคาร คอนโดมิเนียม ซื้อขายที่ดินกัน 300,000 บาทต่อ ตร.ว. ด้วยซ้ำ” วินินท์อร ว่า

จริงๆแล้ว...บขส.ตั้งอยู่ถนนกำแพงเพชร 2 มีความสะดวกเหมาะสมดีอยู่แล้ว เพราะมีการขยายถนนรองรับเพิ่มเติมมากขึ้น มีเส้นทางขึ้นลงทางด่วน และยังใกล้กับสถานีกลางบางซื่ออีกด้วย แต่ถ้าต้องย้ายมาหมอชิตเก่า อาจส่งผลต่อความแออัด ทั้งผู้คนและการจราจรติดขัดแน่นอน

...

เพราะยามปกติ...“ห้าแยกลาดพร้าว” ก็มีการจราจรติดขัดแก้ไม่ได้อยู่แล้ว สาเหตุมีลักษณะเป็น “คอขวด” แม้ทำถนนยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ และเชื่อมเข้าพื้นที่ในอาคารโครงการฯได้ ก็ไม่สามารถช่วยบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรได้ ทั้งยังเสียงบประมาณ 1-2 พันล้านบาท เพื่อทำถนนทางเชื่อมเอื้อบริษัทเอกชนด้วย

จนเรื่องนี้ถูกมองว่า “โครงการทำถนนยกระดับเอื้อประโยชน์ให้เอกชน” เพราะพื้นที่ใช้สอย 8 แสนกว่า ตร.ม. หากพิจารณาพื้นที่การใช้งาน ของ บขส. พบมีสัดส่วน 13-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่การพาณิชย์คอมเพล็กซ์ของบริษัทเอกชน ทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม

หนำซ้ำมีการทำทางยกระดับโทลล์เวย์เชื่อมเข้าในโครงการฯ ส่วนผู้ใช้บริการเข้าออก ยังต้องจ่ายค่าผ่านทางด้วย ทำให้ถูกมองว่าการทำถนนยกระดับไม่ใช่เส้นทางสาธารณประโยชน์เพื่อให้ประชาชนใช้งานจริงๆ

ดังนั้นเรื่องนี้เป็นการเอื้อประโยชน์สาธารณะให้ประชาชนเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้ภาษีประชาชนดำเนินการเวนคืนที่ดิน และก่อสร้างทางยกระดับ ทั้งยังแว้งมาทำร้ายประชาชน ให้ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่ำกว่า 200 หลังคาเรือนด้วยซ้ำ จนต้องทุกข์ระทมใจมานานกว่า 20 ปี ที่ไม่มีใครเหลียวแล...

ย้ำว่า...เราไม่ได้ค้านโครงการพัฒนาคอมเพล็กซ์ แต่อยากให้ยกเลิกการเวนคืนที่ดิน นำไปก่อสร้างทางยกระดับ เพราะเป็นการใช้ภาษีของประชาชน เอื้อประโยชน์ต่อเอกชน จนดูแล้วมีความไม่ถูกต้อง และยังไม่เห็นด้วยกับการนำ บขส.กลับมาพื้นที่หมอชิตเก่า สาเหตุจากสภาพบริบทพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตจนหมดสิ้นแล้ว

อาจเป็นการซ้ำเติมให้พื้นที่เพิ่มความแออัด ทั้งคน และการจราจรในอนาคต

...

นี่คือเสียงสะท้อนของชาวบ้าน “ทนทุกข์ทรมาน” ที่ต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ “ต้องคำสาป” มานานกว่า 20 ปี ต่างรอวัน “นายกฯใจดี” ลงมาหาวิธีการแก้ไข “เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน” เริ่มต้นใหม่...มีชีวิตใหม่.