กลุ่มประชาชนชุมชนหลังหมอชิตเก่าเดินสายยื่นหนังสือคัดค้านย้ายหมอชิต 2 กลับมาใช้พื้นที่หมอชิตเก่า ยืนยันจริงๆแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนทำคอมเพล็กซ์ การเวนคืนที่ดินอาจขัดพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนฯ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องดาหน้าออกมาปฏิเสธ อ้างยังไม่มีความชัดเจน เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ตัวแทนประชาชนชุมชนหลังหมอชิตเก่าเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อคัดค้านการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) หรือหมอชิต 2 กลับมาใช้พื้นที่หมอชิตเก่า จากนั้นเดินทางต่อไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของโครงการให้สัมปทาน กับเอกชนนำที่ดินมาพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม และอื่นๆ โดยมีแผนย้ายสถานี บขส.กลับมาอยู่ในโครงการนี้ด้วย

น.ส.วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล อายุ 48 ปี ผู้แทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันไม่มีความจำเป็น และเหตุผลเพียงพอในการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสาร บขส.กลับมาแออัดยัดเยียดอยู่ที่หมอชิตเก่า เพราะปัจจุบันสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมและระบบคมนาคม ขนส่งของกรุงเทพมหานคร มีพัฒนาการไปไกลมากแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาชาวบ้านหลังหมอชิตเก่าไปยื่นหนังสือ ถึงผู้ว่าฯ กทม. คัดค้านการเวนคืนที่ดินหลังหมอชิตเก่ายาวออกไปถึงริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อสร้างทางยกระดับจากคอมเพล็กซ์ออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิต โครงการนี้ต้องใช้เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนมาจ่ายค่าเวนคืนที่ดินและค่าก่อสร้างอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากกว่า เพราะเป็นการใช้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากถึงกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นการเวนคืนที่ดินที่อาจขัดต่อหลัก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการให้รัฐได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ที่ระบุต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

...

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม กล่าวหลังเป็นตัวแทนรับหนังสือคัดค้านว่า เข้าใจหัวอกชาวบ้านที่อยู่มา 30-40 ปี ย่อมมีความผูกพัน ส่วน จะมีนโยบายอย่างไรต้องขอศึกษาหารือให้รอบคอบก่อน โดยจะคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ขณะที่การสร้างทางยกระดับเชื่อมคอมเพล็กซ์นั้นเป็นไปได้ยากเพราะอาจสร้างมลพิษให้กับชุมชนหลังหมอชิตเก่าได้ จากนี้จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง คมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด บขส. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายให้ย้ายสถานี บขส.กลับมาที่หมอชิตเก่า เพราะปัจจุบันมีระบบขนส่งสาธารณะที่พร้อมเชื่อมต่ออยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และเชื่อมต่อสายสีเขียวได้ ทั้งยังมีสถานีกลางบางซื่อที่รองรับรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง รวมถึงอู่รถ ขสมก. ขณะนี้ บขส.อยู่ระหว่างดำเนินการต่อสัญญากับ รฟท.เพื่อขอต่อสัญญาเช่าพื้นที่หมอชิต 2 รวมทั้งรอท่าทีการพัฒนาพื้นที่หมอชิตเก่าของกรมธนารักษ์ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

ขณะที่นายปัญญา ชูพานิช รอง ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ร่วมกับ รฟท.จัดทำแผนพัฒนาสถานีกลาง-บางซื่อและพื้นที่โดยรอบสถานีมีองค์การความร่วมมือ ระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เข้ามาช่วยวางแผน แต่ยังไม่ได้ระบุชัดว่าต้องย้ายหมอชิต 2 หรือไม่