ศาลอาญาคดีทุจริตฯสั่งจำคุก “ศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์” อดีตอธิบดีกรมอุตุฯ 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ยอมลดค่าปรับให้บริษัทเอกชน ระหว่างฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ปมส่งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์สเปกต่ำกว่าสัญญามาให้ จากมูลฟ้องและค่าปรับและดอกเบี้ยกว่า 300 ล้านบาท เหลือแค่ 4 ล้านบาท

ศาลตัดสินจำคุกอดีตอธิบดีกรมอุตุฯ ประนีประนอมเอื้อประโยชน์ให้เอกชน เปิดเผยขึ้นที่ศาล อาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นจำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

คดีนี้สืบเนื่องจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา กรณีร่วมกันตรวจรับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในสัญญา ต่อมากรมอุตุฯเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเทคโนโลยี โอเปอร์เรชัน กรุ๊ป จำกัด ฐานผิดสัญญาและเรียกค่าปรับต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2546 เรียกค่าปรับเป็นเงิน 242,519,845.20 บาท พร้อมดอกเบี้ย 70,064,979.44 บาท รวมเป็นเงิน 312,584,825 บาท ระหว่างการพิจารณาของศาล จำเลยมอบหมายให้นายเฉลิมชัย เอกก้านตรง อดีตรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ตกลงให้บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชัน กรุ๊ป จำกัด ชำระเบี้ยปรับให้กรมอุตุฯเป็นเงินเพียง 4,327,045.20 บาทเท่านั้น ทำให้ทางราชการเสียหายไม่สามารถเรียกปรับได้เต็มจำนวน

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพื่อประโยชน์ให้กับบริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชัน กรุ๊ป จำกัด ในฐานะคู่สัญญาชำระค่าปรับเพียง 4 ล้านบาท เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ทำให้กรมอุตุฯได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นเพียงการละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบเท่านั้น แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า การที่จำเลยลดค่าปรับเป็นจำนวนมากเกินกว่าระเบียบและกฎหมายให้อำนาจไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้

...

การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับกรมอุตุฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เหตุเกิดแขวงบางนา เขตพระโขนง และแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์ใดก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยใช้ดุลพินิจปรับลดค่าปรับให้แก่บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชัน กรุ๊ป จำกัด จากค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 312,584,825 บาท ลดค่าปรับเหลือเป็นเงิน 4,327,045.20 บาท และกรมอุตุฯตกลงชำระเงินตามสัญญางวดที่ 7-8 เป็นเงิน 901,625.74 บาท และ 49,999,399 บาท ให้แก่บริษัทเทคโนโลยี โอเปอร์เรชัน กรุ๊ป จำกัด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งกรมอุตุฯตกลงคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พฤติการณ์แห่งคดีล้วนบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เทคโนโลยี โอเปอร์เรชัน กรุ๊ป จำกัด และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การกระทำของจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามที่โจทก์ฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) ระวางโทษจำคุก 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมอุตุฯเป็นเงินจำนวนมาก กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ จากนั้นจำเลยยื่นหลักทรัพย์ จำนวนหนึ่งประกันตัวไป