เมื่อวันที่ 24 ก.ย.63 ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาหารือพร้อมกับยื่นเอกสารกับนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพราะทราบว่าองค์กรติดตามเรื่องนี้ โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีขั้นตอนการศึกษา นำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี ท้ายสุดตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 จัดทำร่างประกาศเชิญชวน
ซึ่งก่อนออกร่างทีโออาร์ต้องทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้วจึงออกร่างตัวจริง แล้วจึงประกาศขายซองเอกสาร จนมีเอกชนซื้อซองเอกสาร 10 ราย รวมบีทีเอสด้วย ปรากฏว่าหลังปิดการขายซองแล้ว คณะกรรมการมาตรา 36 มีเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของทีโออาร์ จากใช้วิธีลงทุนแบบ PPP มีการกำหนดให้ยื่น 3 ซอง ได้แก่ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค และซองราคากำหนดว่า ใครผ่านเทคนิค จึงเปิดซองราคา โดยใครให้ข้อเสนอดีที่สุดจะได้รับคัดเลือก ปรากฏว่าคณะกรรมการมาตรา 36 เปลี่ยนเงื่อนไขให้เอาคะแนนเทคนิคมารวมด้วย สัดส่วนเทคนิค 30 คะแนน ราคา 70 คะแนน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า บีทีเอสมองว่าด้านกฎหมายทำได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติโดยใช้เกณฑ์ราคาตัดสิน เมื่อการเปลี่ยนทีโออาร์หลังปิดขายซองแล้ว ทำให้รู้รายชื่อผู้ที่ซื้อซองเอกสารทั้งหมดว่าใครซื้อซองบ้าง เมื่อเปลี่ยนจะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ การหาพันธมิตรเพิ่มก็ลำบาก ก่อนหน้านี้บีทีเอส ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง วันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ อยากให้กลับมาใช้รูปแบบเดิม เพื่อขอให้ศาลคุ้มครองฉุกเฉิน ขณะนี้อยู่ระหว่างนัดการไต่สวน ทั้งนี้ระหว่างที่รอคำตัดสินของศาล บริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนการประมูลโดยกำหนดยื่นซองวันที่ 6 พ.ย.63
...
นายมานะกล่าวว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการเปลี่ยนกติกา เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดในประเทศไทย ตามหลักพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าเปลี่ยนเงื่อนไขเมื่อประกาศทีโออาร์และหลังขายซองแล้ว ทำได้ต่อเมื่อยกเลิกทีโออาร์ และยกเลิกขายซอง เพื่อทำใหม่ เพราะถ้าขายซองแล้วเปลี่ยนกติกาถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดการแข่งขันไม่เสรี ทั้งนี้ได้แนะนำให้บีทีเอสยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่มเติมด้วย ซึ่งจะคำนึงเรื่องความเป็นธรรม เพราะกระบวนการทางศาล จะพิจารณาเรื่องกฎหมายอย่างเดียว.