กรมการค้าภายในโชว์ราคาพืชผลทางการเกษตรปีนี้ ทำเกษตรกรยิ้มออก ทุกรายการปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้เพาะปลูกข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้รับประโยชน์ รวม 3.6 ล้านครัวเรือน ได้รับเงินจากการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ รวม 58 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 10 ก.ย.63 นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้มีการวางแผนการทำงานตามนโยบายรัฐบาล และทำตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" รวมทั้งวางแผนทำงานล่วงหน้า ก่อนที่ผลผลิตทางการเกษตรจะออกสู่ตลาด ผลปรากฏที่ผ่านมา สามารถผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรที่อยู่ภายใต้โครงการประกันรายได้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยในส่วนของโครงการประกันรายได้ สามารถผลักดันให้เกษตรกรที่เพาะปลูกสินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้รับประโยชน์ รวม 3,646,477 ล้านครัวเรือน ได้รับเงินจากการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ รวม 58,174.03 ล้านบาท คิดเป็น 80.84% ของวงเงินงบประมาณ รวมทั้งหมด 71,210.17 ล้านบาท

มีรายละเอียดดังนี้ สินค้าข้าว มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์ทั้งหมด 4.31 ล้านราย ได้โอนเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 1,102,250 ราย จำนวนเงิน 19,413.14 ล้านบาท คิดเป็น 92.70% ของวงเงินงบประมาณ 20,940.84 ล้านบาท, มันสำปะหลัง มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์ 0.52 ล้านราย โอนแล้ว 548,970 ราย จำนวนเงิน 7,000.96 ล้านบาท คิดเป็น 70.74% ของวงเงินงบประมาณ 9,896.63 ล้านบาท คงเหลือการจ่ายเงินชดเชยอีก 3 งวด โดยจะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.2563

...

ปาล์มน้ำมัน มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์กว่า 3 แสนราย โอนแล้ว 375,202 ราย จำนวนเงิน 6,729.57 ล้านบาท คิดเป็น 51.77% ของวงเงินงบประมาณ 13,000 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์ 0.45 ล้านราย โอนแล้ว 348,582 ราย จำนวนเงิน 994.61 ล้านบาท คิดเป็น 64.05% ของวงเงินงบประมาณ 1,552.78 ล้านบาท คงเหลือการจ่ายชดเชยอีก 2 งวด สิ้นสุดเดือน ต.ค.2563 ส่วนยางพารา มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์ 1.71 ล้านราย โอนแล้ว 1,271,473 ราย จำนวนเงิน 24,035.75 ล้านบาท คิดเป็น 93.09% ของวงเงินงบประมาณ 25,819.92 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้มีการใช้มาตรการเสริมเพื่อผลักดันราคา ในส่วนของสินค้าข้าว มีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก, โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวเปลือก และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยสามารถดึงอุปทานช่วงข้าวเปลือกออกสู่ตลาดได้มาก รวม 5.285 ล้านตัน คิดเป็น 75.49% ของเป้าหมาย 7 ล้านตัน

มันสำปะหลัง ได้ดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขาย การกำกับดูแลและบริหารการนำเข้า-ส่งออก การให้สินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และการผลักดันใช้ในอุตสาหกรรมเอทานอลเพิ่มขึ้น, ปาล์มน้ำมัน ได้ผลักดันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จำนวนรวม 3.6 แสนตัน และพิจารณารับซื้อสำรองอีก 1 แสนตัน , ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้บริหารจัดการการนำเข้า ให้นำเข้าได้เฉพาะเดือนก.พ.-ส.ค.ของทุกปี ยกเว้นองค์การคลังสินค้า และกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอัตรา 1 ต่อ 3 ดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขาย

นายวิชัย กล่าวว่า สินค้าผลไม้ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การบริหารจัดการด้านการตลาดผลไม้ เพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดให้กับชาวสวนผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย ลองกอง เงาะ ฯลฯ เช่น ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ส่งเสริมการขายผ่านทางออนไลน์ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และยังมีการเชื่อมโยงการจำหน่ายและส่งเสริมการบริโภค เช่น งานแสดงและจำหน่ายผลไม้ Fruits Festival, งานผลไม้ไทย อร่อยที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการซื้อขายผ่านสัญญาข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า โรงงานแปรรูป รวม 54 สัญญา ปริมาณ 16,823 ตัน มูลค่า 763 ล้านบาท, เชื่อมโยงการซื้อขายผลไม้ผ่านห้างสรรพสินค้าและตลาดกลาง จำนวน 300 ตัน มูลค่ากว่า 12 ล้านบาท พร้อมทั้งจัดหากล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 2 แสนกล่อง, ขอความร่วมมือไปรษณีย์ขนส่งฟรี 200 ตัน, ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้ออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม เช่น Shopee, Lazada, Jatujakmall, Thailandpostmart และ Thaitrade.com, จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ ระหว่างผู้ประกอบการส่งออกลำไยกับคู่ค้าต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย บังกลาเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ฝรั่งเศส รวมมูลค่าการซื้อขาย 5,373.45 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ได้สนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 342 ล้านบาท เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% ต่อปี ระยะเวลา 6, 10 เดือน ช่วยค่าบริหารจัดการ กก.ละ 3.5 บาท ส่งผลให้ราคาทุเรียน ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ กก.ละ 138 บาท (มี.ค.63) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ กก.ละ 121 บาท ราคามังคุด กก.ละ 83 บาท (มี.ค.–พ.ค.63) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ที่กก.ละ 52 บาท ราคาเงาะ ต้นฤดู กก.ละ 29 บาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ กก.ละ 25 บาท พร้อมผลักดันให้มีการเปิดศูนย์บริการส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา มาตรฐานสินค้าเกษตร ตลาดกลางผัก และผลไม้ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน จ.ชุมพร หรือตลาดมรกต ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไทยมีศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ

...



นายวิชัย กล่าวว่า สินค้าหมู ได้มีการตกลงร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค โดยกำหนดราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่เกิน กก.ละ 80 บาท กำหนดราคาขายปลีกเนื้อแดงไม่เกินกก.ละ 150-160 บาท ส่วนสินค้าไข่ไก่ ได้ดำเนินมาตรการดึงผลผลิตออกจากระบบ ร่วมกับสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ร่วมผลักดันส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ จำนวน 200 ล้านฟอง และยังได้จัดทำไข่ไก่ธงฟ้า 15 ล้านฟอง ระบายส่วนเกินออกสู่ตลาด ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 132,996 ราย

นอกจากนี้ ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จากการจำหน่ายไม่ได้จากโควิด-19 ระบาด โดยจัดหาสถานที่จำหน่ายภายในงานต่างๆ และสนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา 1.8 ล้านบาท ในการเชื่อมโยงการจำหน่ายปลากะพงกับห้างสรรพสินค้า สมาคมภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการอาหารทะเล เป้าหมาย 40 ตัน โดยล่าสุดได้ขยายการช่วยเหลือผู้เลี้ยงปลากะพงใน จ.ฉะเชิงเทรา สมุครสาคร สมุทรสงคราม ปัตตานี เพิ่มด้วย ส่งผลให้สามารถผลักดันราคาสูงขึ้นจากกก.ละ 70-80 บาท เป็น กก.ละ 130 บาท

...

สินค้าอื่นๆ ได้ดูแลและผลักดันให้ราคาสูงขึ้นได้ เช่น กระเทียม โดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม และกำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายกระเทียมนำเข้า มะพร้าว ได้กำกับดูแลการขนย้าย ป้องกันการลักลอบนำเข้า สินค้ากุ้ง ได้เชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งให้กับเกษตรกร เพิ่มช่องทางการตลาด การจับคู่ทางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค และสินค้าพืชหัวและกาแฟ ได้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการรวบรวมและคัดคุณภาพผลผลิตก่อนจำหน่าย.