กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเชิญชวนนายจ้างขอจัดทำมาตรฐานแรงงานไทยฉบับปรับปรุงใหม่ สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน สร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุน


เมื่อวันที่ 17 ส.ค.63 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย มรท.8001-2546 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นมาตรฐานสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล โดยสถานประกอบกิจการทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านสภาพ การจ้างและสภาพการทำงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสทางการค้า

ล่าสุด มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงาน การออกกฎหมายเพิ่มเติม ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง จึงได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001-2563 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สถานประกอบกิจการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกอย่างทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

...

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า มาตรฐานแรงงานไทยฉบับล่าสุด เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกฎหมายแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานสากล การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน รวมถึงข้อกำหนดระบบการจัดการแรงงานเพื่อการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยข้อกำหนด 2 ส่วนหลัก คือ 1. ระบบการจัดการแรงงาน และ 2. สิทธิแรงงานและการคุ้มครอง ซึ่งมีเนื้อหาอ้างอิงมาจากอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่นที่รวมอยู่ในเงื่อนไขทางการค้า

"สถานประกอบกิจการที่ทำมาตรฐานแรงงานไทย จะมีส่วนช่วยให้กิจการเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ และไว้วางใจ เนื่องมาจากการบริหารจัดการแรงงานที่เป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน ได้รับการคุ้มครองไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี เพิ่มศักยภาพแรงงานที่ดีให้สามารถเข้าร่วมเวทีการค้าระดับสากลได้ ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในการลงทุนจากต่างประเทศ" อธิบดี กสร. กล่าว

ทั้งนี้ ระบบการประเมินและการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ 1. ระบบการรับรอง เป็นการประเมินโดยหน่วยงานตรวจหรือหน่วยรับรอง ทั้งจากภาครัฐ (กสร.) และภาคเอกชน (CB) สามารถนำใบรับรองไปแสดงต่อคู่ค้าได้ และ 2. ระบบการประกาศแสดงตนเอง เป็นการประเมินด้วยตนเองว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในระบบ ถือเป็นการแสดงเจตจำนง ไม่มีการประเมินจากบุคคลภายนอก เป็นการรับรองด้วยตนเอง

โดยระดับและอายุการรับรอง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับพื้นฐาน เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการ เฉพาะในส่วนที่เป็นเอกสารตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุดไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยมีอายุการรับรอง 2 ปี 2. ระดับสมบูรณ์ เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการที่ทำตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยทุกข้อ ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุด ไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี และ 3. ระดับสมบูรณ์สูงสุด เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการที่ทำตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยทุกข้อ ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุด ไม่เกิน 12 ชั่วโมง/สัปดาห์โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี

...

สำหรับข้อมูลสถานการณ์ด้านมาตรฐานแรงงานไทย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีสถานประกอบกิจการมีการจัดการด้านมาตรฐานแรงงานไทย จำนวน 1,158 แห่ง ลูกจ้าง 528,401 คน เป็นสถานประกอบกิจการส่งออก จำนวน 344 แห่ง มูลค่าการส่งออก 141,215 ล้านบาท

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย พบว่าลูกจ้างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดี มีสถิติจำนวนผู้ประสบอันตรายลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

สนใจการเข้าระบบมาตรฐานแรงงานไทย สอบถามได้ที่สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2246 8370, 0 2246 8294 เว็บไซต์  http://tls.labour.go.th.