เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงคัดค้านกันอย่างถล่มทลาย เมื่อกรมการขนส่งทางบก มีแนวคิดจะเรียกผู้มีใบขับขี่แบบตลอดชีพ คาดว่าประมาณ 1 ล้านคน เข้าทดสอบความสามารถในการขับรถใหม่อีกครั้ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน

ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก ได้ออกมายืนยันแล้วจะไม่ยึดคืน "ใบขับขี่ตลอดชีพ" และไม่เรียกมาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายใหม่ หรือทดสอบขับรถใหม่ แต่จะมีการศึกษาในการคัดกรองผู้มีร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ หรือมีสภาวะโรคที่แพทย์วินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีผลต่อการขับขี่ เช่น โรคทางสมอง และโรคปัญหาการมองเห็นที่รักษาไม่หาย

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ซึ่งได้เล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังทำไม? กรมการขนส่งทางบกจึงมีแนวคิดในการเรียกผู้มี "ใบขับขี่ตลอดชีพ" มาทดสอบความสามารถในการขับรถ ว่า ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้จ้างนักวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทำการศึกษาข้อมูลอุบัติเหตุในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากในอนาคตสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยพบว่าสถิติตัวเลขขยับสูงมากขึ้น จึงมีการพูดคุยในระดับผู้บริหารนำไปสู่การศึกษาและจัดเวทีสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในแนวทางปฏิบัติ

“ผมก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพูดคุยในเวทีสังเคราะห์ข้อมูล แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะมองว่ากลุ่มวัยรุ่นมักจะก่ออุบัติเหตุมากกว่าผู้สูงอายุ แม้ว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นสูงก็ตาม แต่ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ หรือนำมาเป็นเงื่อนไข เพราะจำนวนผู้สูงอายุที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ นับวันก็จะลดลงเรื่อยๆ และเมื่อเทียบกับวุฒิภาวะแล้ว ผู้สูงอายุจะกลัวตาย รักชีวิต มีความระมัดระวังในการขับขี่มากกว่ากลุ่มวัยรุ่น หลายเท่า เพราะฉะนั้นควรทบทวนให้ดีว่าจำเป็นแค่ไหน อย่าเอาข้อมูลจากนักวิชาการไปเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยต่ำกว่ามาตรฐานอยู่แล้ว เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมขนส่งฯ จะตัดสินใจว่าอยู่บนพื้นฐานอะไร หรือเอาข้อมูลมาจากต่างประเทศ จนทำให้ผู้สูงอายุลำบาก”

...

สำหรับความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่รุนแรงมากนัก ควรให้ความสำคัญในการตรวจสุขภาพและให้ครอบครัวดูแลผู้สูงอายุให้มากกว่านี้ พร้อมๆ กับการเพิ่มสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ เช่นในระดับท้องถิ่นควรจัดรถไปส่งในการตรวจสุขภาพ ดีกว่าการออกกฎหมายที่จะเข้าอีหรอบเดิม และส่วนตัวไม่ได้มองว่าผู้สูงอายุไม่สำคัญ แต่กลับมองว่ากลุ่มวัยรุ่น เยาวชน และผู้ใช้แรงงาน ตายจากอุบัติเหตุมากกว่า จึงไม่ควรเอาตามฝรั่ง แต่อยากให้ดูวิถีชีวิตจริงๆ ในสังคมไทย ควรเน้นการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุจะดีกว่า

ส่วนที่มีการถามว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ หากเอาอายุเป็นตัวตั้งจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในทันที เนื่องจากคนอายุ 60 ปี ไม่ใช่จะมีสุขภาพดีกันทุกคน หรือบางคนอายุ 80 ปี กลับมีสุขภาพดีและขับรถได้ดีมากกว่า จึงไม่ควรเอาอายุเป็นเกณฑ์มาตรฐาน นำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาใบขับขี่ตลอดชีพ อีกทั้งยังไม่ใช่เวลาที่จะต้องมาเร่งดำเนินการ ควรนำตัวเลขสถิติการเกิดอุบัติเหตุมาพิสูจน์มาวัดกันให้ได้ เมื่อเทียบกับเด็กวัยรุ่นที่ขับรถเร็วปาดซ้ายปาดขวา

สุดท้ายสรุปว่าในประเด็นนี้ใครที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจสุขภาพ แต่ไม่ควรไปยุ่งกับใบขับขี่ และเน้นการสื่อสารให้มากๆ ว่าโรคอะไรเป็นข้อห้ามนำไปสู่การยึดใบขับขี่ ซึ่งการจะไปยึดใบขับขี่ตลอดชีพถือว่าโหดร้ายเกินไปต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากหลายคนมีความจำเป็นต้องเดินทาง หรือผู้สูงอายุที่เป็นคนจนในต่างจังหวัดต้องมีมอเตอร์ไซค์ขับขี่ไปทำธุระ เพราะฉะนั้นควรพิจารณาดูจากวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆ และที่สำคัญในการขับรถควรให้ความเคารพผู้สูงอายุ อย่างประเทศญี่ปุ่น “ไม่ใช่คอยบีบแตรไล่” เมื่อเห็นผู้สูงอายุขับรถแบบงกๆ เงิ่นๆ ชักช้า จึงอยากให้ทุกคนในสังคมไทยเปลี่ยนความคิดนับตั้งแต่วันนี้.