ปูดคณะกรรมการตรวจสอบคดี “บอส อยู่วิทยา” ฝ่ายตำรวจ สอบแพทย์ประเด็นยาเสพติดเสร็จแล้ว ยืนยันเสพ โคเคนกับแอลกอฮอล์ เตรียมแจ้งข้อหาใหม่คดียาเสพติด ส่วนประเด็นความเร็วรถ ผู้เชี่ยวชาญ 2 ฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกัน เตรียมสอบผู้เชี่ยวชาญคนกลางเพิ่ม ส่วน พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น พฐ. ที่ให้การเรื่องความเร็วรถ 2 ครั้งไม่เหมือนกัน ถูกสอบเครียด 2 วันซ้อน ให้การใหม่ยืนยันความเร็วที่ 177 กม.ต่อ ชม. อ้างว่าสับสนการคำนวณข้อมูล อดีตประธาน กมธ.การกฎหมายฯ สนช.ปัดรับงานช่วยบอส ยันทำหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย ไม่เคยทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลให้รอดคดี “รสนา” จี้ขอเอกสารบันทึกการประชุม เพราะเป็นหลักฐานทำให้อัยการรับเรื่องขอความเป็นธรรม หลังอัยการสูงสุดสมัยนั้นสั่งยุติเรื่องไปแล้ว “สมบัติ วงศ์กำแหง” ให้ความเห็นคดีบอสทำให้เกิดกระบวนใหม่ ไม่ปรากฏในกระบวนการดำเนินคดีอาญาปกติ เนื่องจากร้องขอความเป็นธรรมผ่านกรรมาธิการ สนช. เป็นจุดเปลี่ยนของคดี สงสัยเป็นกระบวนการ วางแผน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ อาศัยคอนเนกชันหรือเงิน ทำลายระบบกระบวนการยุติธรรมอย่างเลือดเย็น “คณิต ณ นคร” ชี้คำสั่งไม่ฟ้องของรอง อสส.ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เพราะอดีต อสส.สั่งฟ้องเด็ดขาดไปแล้ว เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดต้องดำเนินการทางวินัย สังคายนาองค์กรใหม่ เรียกคืนศรัทธาประชาชน
กรณีสำนักข่าวต่างประเทศตีแผ่ข่าวอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา อายุ 31 ปี กรณีขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ชนรถ จยย. ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เหตุเกิดเมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555 แล้วหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศจนถูกออกหมายจับ รวมทั้งออกหมายแดงตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) หลังการสั่งคดียืดเยื้อมากว่า 7 ปี ความผิดบางข้อหาหมดอายุความไปแล้ว เหลือแต่คดีหลักขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยตำรวจไม่มีความเห็นแย้งอย่างเงียบๆ ทำให้นายวรยุทธกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอถอนหมายจับทั้งในประเทศและตำรวจสากล หลังความแตกสร้างกระแสความไม่พอใจให้คนในสังคมอย่างรุนแรงจนหน่วยงานอัยการ ตำรวจ รวมไปถึงรัฐบาล ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้น ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบคดีฝ่ายอัยการ แถลงผลการสอบสวนพบว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความเร็วรถเฟอร์รารี่และผลตรวจเลือดของบอสไม่อยู่ในสำนวนทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง คดียังไม่ถือว่าถึงที่สุดจะให้ตำรวจสอบสวนประเด็นเหล่านี้ใหม่ มาประกอบการพิจารณาสั่งคดี
...
“บิ๊กแป๊ะ” ย้ำทำความจริงปรากฏ
ความคืบหน้าจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 7 ส.ค. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวว่า คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา เหมือนกับคดีอื่น สั่งการไปยังประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่า เรื่องนี้ต้องทำความจริงให้สังคมรับรู้ ขั้นตอนไหนพบข้อบกพร่องต้องดำเนินการ ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษไปแล้วเป็นอีกส่วนหนึ่ง ถ้าการตรวจสอบครั้งนี้ยังพบว่า ช่วงไหนมีข้อบกพร่องต้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการได้เลย แต่ต้องขอว่า ให้พูดในส่วนของตนก่อนดีกว่า อย่าไปก้าวก่ายหน่วยงานอื่น ที่ผ่านมายังไม่ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เรื่องนี้ คุยบ้างเรื่องอื่น เชื่อว่า คณะกรรมการคงเรียก พล.ต.ท.เพิ่มพูน ไปซักถามพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ต้องไปดูราย ละเอียด ตัดสินอะไรขณะนี้คงไม่ได้ เพราะไม่ได้ลงไปดูรายละเอียดที่อัยการส่งมาให้ตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร
หาคนกลางตรวจความเร็วรถใหม่
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ฐานะรองประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนายวรยุทธ เผยว่า วันที่ 11 ส.ค.คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะประมวลสรุปผลการตรวจสอบเสนอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.พิจารณาสั่งการ รวมทั้งกำหนดวันแถลงข่าวชี้แจงประชาชนถึงข้อเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะประเด็นสาเหตุไม่แย้งคำสั่งอัยการในคดีนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมของคณะกรรมการชุดย่อยเนื่องจากประธานและรองประธานติดภารกิจ ที่ประชุมเชิญ พล.ต.ท.วิเชียร ตันตะวิริยะ ผบช.สพฐ. พล.ต.ท.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร.และทีมกองพิสูจน์หลักฐานให้ข้อมูลประเด็นความเร็ว เพื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัยว่า ความน่าเชื่อถือของ 2 สำนัก ระหว่างนายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ และนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม เพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล หากน่าเชื่อถือทั้ง 2 สถาบัน อาจเสนอ ผบ.ตร.ให้หาหน่วยงานกลางมาพิสูจน์
สอบแพทย์แล้วยันเสพโคเคน
มีรายงานด้วยว่า การเข้าพบพนักงานสอบสวนของ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น นวท. (สบ 4) กลุ่มงานตรวจเคมีฟิสิกส์ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.สอบสวนต่อเนื่อง 2 วัน ปรากฏว่า พ.ต.อ.ธนสิทธิกลับข้อมูลใหม่ระบุว่า ความเร็วรถนายวรยุทธขณะเกิดเหตุ 177 กม.ต่อ ชม.เหมือนสำนวนครั้งแรก ส่วนที่มาให้การภายหลังเมื่อปี 2559 ระบุ ความเร็วลดลงเหลือ 79.23 กม.ต่อ ชม. อ้างว่าสับสนการคำนวณข้อมูล นอกจากนี้จากการสอบปากคำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้รับการยืนยันตรงกันว่า สารโคเคนที่พบในเลือดนายวรยุทธ เกิดจากการเสพโคเคนและแอลกอฮอล์ คณะกรรมการจะเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาตั้งข้อหาเสพโคเคนเพิ่มเป็นข้อหาใหม่
สตม.แจงยังไม่ถอนหมายจับบอส
ส่วนกรณีสื่อเสนอข่าวว่า สตม.ถอนหมายจับนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา มีความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงนั้น พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. ขอแจ้งให้ทราบว่า 1.กรณีนำเสนอข่าวว่ามีการถอนหมายจับและหมายอินเตอร์โพลนายวรยุทธแล้วนั้น ขอเรียนว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก สตม.ไม่มีอำนาจหน้าที่ถอนหมายจับและไม่มีหนังสือแจ้งไปยังอินเตอร์โพล 2.สน.ทองหล่อมีหนังสือแจ้งว่า อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธทุกข้อกล่าวหา และไม่ต้องการตัวนายวรยุทธ ไปดำเนินคดี สตม.จึงนำชื่อออกจากบัญชีเฝ้าดู (Watch List) ในระบบของสตม. 3.เนื่องจากศาลยังไม่ได้ถอนหมายจับนายวรยุทธ กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกนายเมื่อพบตัวให้จับกุม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเข้ากักตัว (State Quarantine) 14 วัน ตามมาตรฐานการควบคุมโรค และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอด 24 ชม. 4.สตม.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาและเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย
...
“วงศ์สกุล” บุกหารือ “อรรถพล”
ที่ห้องประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อเวลา 10.00 น. นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เข้าพบนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธาน ก.อ. หารือกรณีนายอรรถพลทำหนังสือบันทึกข้อความถึงอัยการสูงสุด ประเด็นเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมที่นายเนตร นาคสุข รอง อสส. กลับคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา นายอรรถพลกล่าวว่า ประเด็นที่พูดคุยเป็นเรื่องที่ตนทำความเห็นว่าเรื่องร้องขอความเป็นธรรมที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของนายเนตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาความเห็นของตนฐานะประธาน ก.อ. พร้อมให้คณะทำงานของตนที่มีนายไพบูลย์ ถาวรวิจิตร รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทำงาน บันทึกถ้อยคำเหตุผลการส่งบันทึกข้อความถึง อสส. นอกจากนี้ยังพูดคุยถึงข้อกฎหมายที่เสนอและเข้าใจกันว่า ประเด็นที่คำสั่งของนายเนตรจะไม่ชอบ มีผลให้คำสั่งฟ้องผู้ต้องหาของอธิบดีอาญากรุงเทพใต้ฯขณะนั้นมีผลสมบูรณ์ เพราะคดีนี้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอสส.มีคำสั่งยุติคำร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว แต่เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องประเด็นความเร็วรถ เห็นควรสอบสวนเพิ่มเติม อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งสอบสวนโดยให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลางของตำรวจ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม พิสูจน์ความเร็วรถผู้ต้องหาจากพยานหลักฐานที่มี โดยเชิญผู้เชี่ยวคนกลางอย่างนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ร่วมพิสูจน์ความเร็วเพื่อให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือด้วย
ตกลงตั้งอดีต อสส.สอบ “เนตร” แล้ว
นายอรรถพลกล่าวว่า สำหรับการคุยกับอัยการสูงสุดวันนี้ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสบายใจ ไม่มีความขัดแย้ง เข้าใจกันดีมาตลอด เราคุยกันว่าประชาชนยังแคลงใจว่า จะมีการฟอกขาวเพื่อช่วยเหลือใครหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตนฐานะประธาน ก.อ.และอัยการสูงสุดคุยกันว่า เราควรจัดแถลงข่าวด้วยตนเอง และมีแผนที่จะกราบเรียนเชิญอดีต อสส.และอดีตรอง อสส.มาเป็นกรรมการสอบการใช้ดุลพินิจของนายเนตร นาคสุข รอง อสส. ที่สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่ กรรมการที่เราเตรียมเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อัยการและประชาชนเห็นชื่อจะต้องเชื่อถือ เรื่องนี้นายวงศ์สกุลจะนำไปพิจารณาการเรียนเชิญ ทำในรูปแบบ ก.อ. ต้องรอผลการประชุม ก.อ.วันที่ 18 ส.ค. คอยดูกันต่อไปว่าจะเรียนเชิญใครมาสอบสวน แต่ย้ำว่าเป็นคนที่อัยการและประชาชนจะต้องเชื่อถือแน่นอน วันนี้นั่งปรึกษากันใช้เวลาชั่วโมงกว่า ตอนแรกเรานั่งคุยกัน 2 คนก่อน ถึงเรียกรอง อสส.และคณะทำงานเข้ามาบันทึกปากคำ ปธ.ก.อ. การคุยครั้งนี้ไม่ใช่การเคลียร์ใจเพราะเราเห็นตรงกันมาตลอด ต่างคนต่างรักองค์กร
...
อนุ กมธ.ป.ป.ช.บี้ไม่ฟ้องคดี
ที่รัฐสภา เวลา 10.45 น. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานอนุกรรมาธิการคณะที่ 2 ในคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมอนุกรรมาธิการฯกรณีคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า จะตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชอบว่า อยู่ที่ต้นน้ำคือตำรวจ หรือกลางน้ำคืออัยการ ทั้งความเร็วรถ การที่ตำรวจสั่งฟ้อง 3 ข้อหาจาก 5 ข้อหา อัยการสั่งฟ้อง 4 ข้อหา ยกเว้นคดีเมาสุราไม่พูดถึงคดียาเสพติด รวมถึง กมธ.การกฎหมายฯ ยุค สนช.มีส่วนผลักดันให้ช่วยเหลือหรือไม่ ยังไม่รวมถึงกรณีการเสียชีวิตของพยานใหม่ในคดี ตั้งประเด็นสอบไว้ว่า การสั่งไม่ฟ้องคดีของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การทำคดีของตำรวจมีส่วนช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไรหรือไม่ จะดำเนินการตรวจสอบให้ถึงที่สุดเพื่อหาผู้กระทำความผิด มีผลประโยชน์หรือทุจริตอื่นใด จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อไป
กังขา อสส.มีเอี่ยวสั่งไม่ฟ้องหรือไม่
นายคริส โปตระนันทน์ อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขอลงลึกในส่วนความเห็นแย้งทางอัยการ โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ ที่มีความเห็นยืนยันว่า คดีนี้อดีตอัยการสูงสุด ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร เคยสั่งให้ยุติไม่รับเรื่องร้องทุกข์ของนายวรยุทธแล้ว ไม่ทราบว่านายเนตรที่สั่งคดีไม่ฟ้องได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดหรือไม่ หรือกระทำการส่วนตัว อาจเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่สำคัญกรณีการร้องขอความเป็นธรรมตามระเบียบสำนักงานอัยการ ข้อ 48 ระบุว่า การร้องขอความเป็นธรรมกรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหา หรือบางข้อหา ต้องเสนอพร้อมสำนวนและความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดีเพื่อพิจารณา
...
ปลุก “#ดุลยพินิจลอดช่อง”
ขณะที่นายธีรเศรษฐ พัฒน์สราพงศ์ อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจทางกฎหมาย หรือดุลยพินิจลอดช่อง เพื่อให้สอดคล้องกับระบบวีไอพี เป็นที่มาของวลีคุกมีไว้ขังคนจน เพราะคนจนไม่มีโอกาสต่อสู้ ระบบลอดช่องเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม ฉะนั้นขอให้ร่วมกันติด “#ดุลยพินิจลอดช่อง” เพื่อร่วมกันสะท้อนภาพและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม
“ศิษฐวัชร” ปัดรับงานช่วย “บอส”
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. ในฐานะอดีตประธาน กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี หลายฝ่ายทวงถามเอกสารบันทึกการประชุม กมธ.ที่พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมนายวรยุทธว่าตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสามารถร้องขอผ่านหน่วยงานสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ เบื้องต้นหลายหน่วยงานร้องขอมา รวมถึงคณะทำงานของนายวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ เป็นสิทธิร้องขอได้แต่ไม่ทราบขณะนี้เอกสารของ กมธ.อยู่ในขั้นตอนใดของราชการ ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายตั้งประเด็นว่า กมธ.ทำเพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร ตอบว่า ตอนรับเรื่องร้องทุกข์ กมธ.ทำหน้าที่ตามกรอบกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ ยืนยันไม่เคยทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลให้รอดคดี แม้จะเป็น สนช.ต้องทำงานภายใต้กฎหมายและระเบียบ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ยืนยัน กมธ.ไม่เคยช่วยคดีบุคคลใด
“รสนา” ขอข้อมูล สนช.อุ้มบอส
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม.พร้อมด้วย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านว่าที่ ร.ต.อาพันธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาฯ เพื่อขอเอกสารรายการบันทึกการประชุม ผลการศึกษาและหนังสือนำส่งอัยการ ของ กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจกรรมตำรวจ สนช. ที่มี พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว.เป็นอดีตประธานฯเมื่อปี 2557 กรณีร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ ว่าที่ ร.ต.อาพันธ์กล่าวว่า เบื้องต้นทำหนังสือถึงเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อส่งเอกสารดังกล่าวให้ น.ส.รสนา รวมทั้งได้ทำหนังสือแจ้ง น.ส.รสนาว่า เอกสารไม่อยู่ในความ ครอบครองของเลขาธิการสภาฯ
อยากเห็นเอกสารทำให้พลิกมติ
น.ส.รสนากล่าวว่า สาเหตุที่ต้องการเอกสารเพราะหาหลักฐานที่ทำให้อัยการรับเรื่องขอความเป็นธรรมได้ หลังวันที่ 9 ก.พ.2561 ที่อัยการสูงสุดยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรม เพราะ กมธ.กฎหมายฯ สนช.เคยทำหนังสือขอให้สอบเพิ่มเติม เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ มีนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นพยานคำนวณความเร็วรถ สงสัยว่า เมื่ออัยการสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรมแล้ว มีการรื้อฟื้นหรือส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมหรือไม่ อยากเห็นเอกสารของ สนช.ว่า ยังมีเอกสารอื่นๆที่ทำให้รองอัยการสูงสุดกลับมติสั่งไม่ฟ้องคดีอีกหรือไม่
กก.เนติบัณฑิตวิพากษ์คดีบอส
ที่เนติบัณฑิตยสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโอกาสเป็นวันรพีหรือวันนักกฎหมายไทย มีการรำลึกถึงผู้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายคือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เนติบัณฑิตยสภาจัด ให้หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา เข้าวางพวงมาลาสักการะ เพื่อแสดงถึงความกตัญญู ขณะเดียวกันเป็นช่วงเวลาที่มีความเห็นขัดแย้งในหมู่นักกฎหมายและประชาชน เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญากรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการบริหารเนติบัณฑิตยสภา ฐานะครูกฎหมายแสดงความเห็นว่า การสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ผู้เกี่ยวข้องหลักๆดังนี้ ผู้เสียหาย ทนายความ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ในขั้นตอนปกติทั่วไป เมื่อกระทำความผิดอาญา อย่างคดีนี้เป็นคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ยังไม่รวมคดียาเสพติดซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ตำรวจดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องมีใครร้องทุกข์
ทำเกิดกระบวนการใหม่ไม่ปกติ
ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าวต่อว่า แต่คดีนี้เกิดกระบวนการใหม่ไม่ปรากฏในกระบวนการดำเนินคดีอาญาปกติ เนื่องจากมีการร้องขอความเป็นธรรมต่อกรรมาธิการ สนช. เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางว่า นี่คือจุดเปลี่ยนของคดี เพราะกรรมาธิการสรุปเรื่องร้องเรียนส่งต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) หยิบยกเรื่องร้องขอความเป็นธรรมในชั้นอัยการที่เคยสั่งยุติไปแล้วมาพิจารณาสั่งไม่ฟ้องโดยรอง อสส. ต่อมาปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องจึงเสร็จเด็ดขาด ปัญหาคือ การร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการเกิดขึ้นได้อย่างไร ปรากฏข้อเท็จจริงจากสื่ออีกเช่นกันว่า มีอดีตนักการเมืองท่านหนึ่งที่เป็นนักกฎหมายฝ่ายผู้ต้องหา ประสานงานกรรมาธิการจนนำพยานมาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ตรวจพิสูจน์ความเร็วรถใหม่ นำข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานเพิ่มเติมส่ง อสส. เป็นข่าวครึกโครมกระทบภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรม ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เริ่มสรุปจาก อสส.ว่าการสั่งสำนวนของอัยการเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและพยานหลักฐานในสำนวน แต่การใช้ดุลพินิจชอบหรือไม่ อาจต้องตั้งคณะกรรมการอีกชุด คาดว่าผลอาจออกมาว่า การสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายและตามคำสั่งพนักงานอัยการ ตำรวจก็ทำชอบด้วย กฎหมาย
เสียดายพยานความเร็วรถตาย
“ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อคือ พยานที่เพิ่มเติมภายหลังมาอย่างไร การกลับคำเบิกความ การเพิ่มเติมประเด็นข้อเท็จจริงใหม่มาอย่างไร ประเด็นนี้พยานต่างๆน่าจะตอบได้ ตามวุฒิภาวะของแต่ละท่าน และ พยานที่น่าสนใจคือ คนขับรถปิกอัพ (หมายถึงนายจารุชาติ มาดทอง) ที่ยืนยันว่ารถคันเกิดเหตุไม่ได้ขับเร็ว ถูกเชิญมาให้ข้อเท็จจริงกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร น่าจะเป็นประโยชน์ได้ ความจริงมากขึ้นว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงเพิ่งพูดถึงความเร็ว ใครติดต่อและมีใครแนะนำซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร แต่น่าเสียดายที่คนตายแล้วพูดไม่ได้” ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าว
ซัดมีการวางแผนแทรกแซงเป็นระบบ
ว่าที่ พ.ต.สมบัติกล่าวด้วยว่า หากมองจากระบบกฎหมายที่ใช้ปัจจุบัน กระบวนการขั้นตอนต่างๆในการดำเนินคดีอาญาสามารถใช้กับคดีต่างๆที่เกิดขึ้นหลายหมื่นเรื่องต่อปีได้เป็นปกติ ตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่นักกฎหมายต่างยอมรับว่าได้มาตรฐานและดีที่สุดประเทศหนึ่งระดับโลก เมื่อระบบยังใช้ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นหนีไม่พ้นเกิดจากคน คนที่รู้กฎหมาย คนที่บังคับใช้กฎหมาย คนที่รู้ขั้นตอนกระบวนการและวิธีการต่างๆอย่างดี ทำให้ตนสงสัยว่า นี่เป็น กระบวนการ ทำการวางแผน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ อาศัยคอนเนกชันหรือเงิน ในการทำลายระบบกระบวนการยุติธรรมอย่างเลือดเย็น ตนไม่อยากให้ความยุติธรรมมาพังในวันรพี ในฐานะนักกฎหมาย รับไม่ได้หากคนในวงการของเรามาทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของนักกฎหมาย หากท่านไม่มี ความยุติธรรมอยู่ในหัวใจ จงออกไปจากกระบวนการยุติธรรมเสีย อย่าทำให้วงการของนักกฎหมายต้องแปดเปื้อนไปเพราะตัวท่านเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การวางพวงมาลา กรมหลวงราชบุรีฯอีกจุดบริเวณศาลฎีการาชดำเนิน ที่ผู้หลัก ผู้ใหญ่ในวงการกฎหมายมาร่วม อาทิ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา นางเมทินี ชโลธร ว่าที่ประธานศาลฎีกาคนใหม่ แต่อัยการสูงสุดมอบให้นายสาวิตร บุญประสิทธิ์ รอง อสส. มาวางพวงมาลาแทน
“คณิต” เตือน อสส.จะถูกถอดถอน
ที่ ม.ธุรกิจบัณฑิต วันเดียวกัน นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดและกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความรับผิดชอบของอัยการในการสั่งคดี กรณีใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในงานเสวนาวิชาการ “การตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีปัญหาอยู่ตรงไหน?” คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ จัดขึ้นเนื่องในวันรพีประจำปี 2563 ว่า คดีนี้ถือเป็นความอื้อฉาวและเป็นความตกต่ำของสำนักงานอัยการสูงสุดอย่างมาก สะท้อนความบกพร่องในหน้าที่ของอัยการรุ่นใหม่ในการอำนวยความยุติธรรม ต้องทำอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่จากข้อเท็จจริงในคดี เห็นได้ชัดว่า คำสั่งไม่ฟ้องของนายเนตร นาคสุข รอง อสส.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้ อสส.เคยมีคำสั่งชี้ขาดให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมฝ่ายนายบอสและสั่งฟ้องเด็ดขาดไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดและคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ต้องดำเนินการทางวินัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนและสังคมกลับมาอีกครั้ง หากอัยการสูงสุดยังคงนิ่งเงียบไม่ดำเนินการใดๆ ระวังอาจถูกถอดถอนตำแหน่งโดยประชาชน
มีกระบวนการเปลี่ยนข้อเท็จจริง
ด้าน พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผบช.น. กล่าวว่า ความจริงคดีนี้ควรจะเป็นคดีเล็กๆ เนื่องจากเป็นคดีอุบัติเหตุรถชนทั่วไป ใน 1 วันประเทศไทยมีคดีลักษณะนี้เป็น 100 คดี เพียงแต่ข้อเท็จจริงในคดี ผู้ก่อเหตุเป็นลูกคนมีสตางค์และหลบหนีคดี แทบไม่มีมุมไหนที่ตำรวจและอัยการจะสั่งไม่ฟ้องได้ แต่ยังมีกระบวนการพยายามเปลี่ยนข้อเท็จจริง ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว ทำลายศรัทธาของประชาชน
มือฉกโทรศัพท์พยานพบตำรวจ
ที่ บก.ภ.จ.เชียงใหม่ วันเดียวกัน นายพศิน หรือล้าน อัครเดชธนโชติ คนสนิทของนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง อดีต ส.ว.เชียงใหม่ เข้าให้ปากคำ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ จีระนันตสิน ผบก.ภ.จ.เชียงใหม่ หลังรับว่า เป็นคนเอาโทรศัพท์มือถือของนายจารุชาติ มาดทอง พยานสำคัญคดีบอส วรยุทธ ที่ประสบอุบัติเหตุรถ จยย.ชนเสียชีวิตอย่างมีข้อสงสัยไปทำลายทิ้ง ถูกญาตินายจารุชาติแจ้งความจับข้อหายักยอกทรัพย์ นายพศินเผยว่า สาเหตุที่เอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียชีวิตไป เนื่องจากมีรูปของตนกับคนตายอยู่ในโทรศัพท์มือถือจำนวนมาก เกรงว่าจะได้รับผลกระทบหากรูปถูกเผยแพร่ออกไป หลังถูกแจ้งจับจึงเดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและชดใช้ค่าเสียหายให้ครอบครัวของนายจารุชาติ