คิดแบบเลวๆร้ายๆ มองกันเฉพาะ “มุมลบ” เท่านั้นในมุมความตั้งใจตั้งไข่ทำให้เกิด “โครงการเมกะโปรเจกต์” แบบว่าตอนจบกินรวบ “ค่าโง่”...ฟ้องร้องยืดเยื้อนับนานหลายปีแล้วยังมีของแถมได้ “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” บอกเลยว่าก็...“คิดได้”
เหมือนอย่างกรณีล่าค่าโง่! โครงการ “โฮปเวลล์” ที่รัฐต้องจ่ายมูลค่ารวมทั้งสิ้น 25,411 ล้านบาท จากเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวม 11,888 ล้านบาท แต่เมื่อรวมดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 จะอยู่ที่อีกกว่าเท่าตัวหมื่นกว่าล้าน...ยอดรวมค่าโง่ทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท
“คนของเราเองรู้เห็นเป็นใจกับเขา อย่างโครงการคลองด่านว่ากันว่าลึกๆแล้วนั้นก็เป็นอย่างนี้ เป็นปัญหาเงื่อนงำที่เกิดขึ้นในเมืองไทยกันเอง...รู้อยู่แก่ใจ โดนปรับแน่ๆ”
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งข้อสังเกต
...
แล้ว...เมกะโปรเจกต์ส่วนใหญ่มักจะเป็นเช่นนี้ ส่งที่ดินให้ไม่ทัน มีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินชะลอไปเรื่อย ติดโน่นติดนี่...แค่นี้ก็โดนฟ้องได้แล้ว เป็นค่าโง่ที่ต้องจ่ายแล้ว ที่สำคัญยังถูกซ้ำด้วยดอกเบี้ยผิดนัดอีกร้อยละ 7.5 คูณด้วยจำนวนปีนับตั้งแต่เริ่มฟ้องร้องกัน...ทบทวีคูณขึ้นไปอีก
“จะบอกว่าไม่รู้ไม่ชี้ก็ทำได้ แต่มองอีกมุม...อาจจะรู้ดี รู้อยู่แก่ใจกับนายทุนก็เป็นได้”
ข่าวแว่วๆมาดังๆในช่วงเวลานี้อีกโครงการใหญ่ยักษ์ในภาคใต้ “ขุดคลองไทย” ยังไม่ทันเริ่มต้น ตั้งไข่อันใดเลย ผู้รู้หลายๆคนมีประสบการณ์ก็ฟันธงเสียแล้วว่ามีเค้าจะเสียค่าโง่มหาศาลบานตะไทอีกเช่นกัน
ประชาชนอยากให้แก้ “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แต่ก็มีหลายๆคนไม่อยากให้แก้ ส่วนใหญ่จะเป็นนายทุน และโชคร้ายที่มีคนในภาครัฐเองก็รู้กับนายทุน พูดตรงๆอย่างนี้ก็เพราะว่าผลจากปัญหารุนแรงขนาดนี้ ทำไมยังไม่มีใครออกมาพยายามส่งสัญญาณแก้ไข
เมื่อนิ่งกันไปหมด รัฐเสียหายจ่ายค่าโง่มหาศาลขนาดนี้ แถมซ้ำด้วย “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5”...จะให้คิดอย่างไรว่านิ่งเพราะมีได้มีเสียมีผลประโยชน์อะไรบางอย่างแอบแฝง
ควรที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน ผลักดันให้ปัญหาคลี่คลายทุเลาเบาบางจึงจะถูก
กระตุ้นต่อมสติ...ภาคประชาชนต้องแสดงพลังอันเข้มแข็งออกมา นายทุนที่อยากช่วยก็ยื่นมือเข้ามาช่วยกันถ้าทำได้เห็นว่าเรื่อง “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปรับกันเสียแต่วันนี้จะได้ไม่ส่งผลเสียมหาศาลต่อไปได้ในอนาคต
ไม่ใช่ว่าเสียไม่ได้ กฎหมายยังไงก็เป็นกฎหมาย เพียงแต่ปรับเปลี่ยนให้สมเหตุสมผลเข้ายุคสมัยในปัจจุบันเท่านั้นเอง โดยเฉพาะ “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง”...ข้าราชการ นักการเมืองหัวหอกที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในเรื่องนี้ มารวมพลังกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้
อย่ารอให้วัวหายแล้วล้อมคอก “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5”...ล้อมไม่ได้ต้องจ่ายสถานเดียวเท่านั้น คิดเสียว่าเงินที่จ่ายเป็นเงินภาษีคนไทยทุกชีวิต ถ้าเลี่ยงได้เอาไปใช้พัฒนาอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” เป็นผลพวงต่อเนื่องไปถึงลูกหนี้ที่ถูกฟ้อง รวมถึงคนค้ำประกันที่ถูกฟ้อง...ผิดๆๆ ผิดแล้วถ้ายังไม่ใช้หนี้ก็จะเกิดดอกมหาศาลตามมา ดอกเบี้ยไหลเคราะห์ซ้ำกรรมซัด...กฎหมายระบุ 7.5% ต่อปี หลังคดีสิ้นสุดแล้ว ยิ่งต่อสู้เวลาก็ยิ่งผ่านไปเรื่อยๆ
ผลสุดท้ายเมื่อคดีถึงที่สุด “ดอก” ก็เบ่งบานไปอีก
“ค่าโง่” เราอย่าไป “โง่” นั่นก็คือการที่จะเลือกเลี่ยงจ่าย “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” กรณีแพ้คดีฟ้องร้องค่าโง่ หลีกเลี่ยงความซับซ้อนเงื่อนงำอย่าให้เกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อวันเวลาผ่านไป 10 ปี...20 ปี ค่าโง่บวกดอกเบี้ย ได้ “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” ดีกว่าฝากธนาคารแน่นอน
สัญญาสัมปทานระยะยาว อย่างรถไฟฟ้า 30 ปี...ทำได้เดินหน้าก็ไม่มีปัญหา แต่โฮปเวลล์ปัญหาสะดุดหลายๆเรื่อง หลายๆยุคสมัย เมื่อทำไม่ได้ก็ฟ้องร้องกันตามข้อมูลหลักฐานอย่างที่รู้กัน
...
เมื่อเป็นเช่นนั้นโครงการใหญ่ๆของรัฐ สัญญาสัมปทาน...อย่างไรจะป้องกันไม่ให้โดน “ค่าโง่” ย้อนรอยเมื่อวันเวลาผ่านไปนับสิบๆปีเหมือนหลายๆบทเรียนสำคัญในอดีตที่ผ่านมา
ข้อสำคัญแรก...เวลาทำ “สัญญา” ต้องศึกษาความเป็นไปได้ หรือความเหมาะสมให้ชัดเจน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมๆก็คือศึกษาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิศวกรรม
ที่สำคัญ...เอาให้ชัดว่าโครงการจะจบลงเมื่อไหร่ ดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นว่ามีโอกาสเสี่ยงที่โครงการจะไม่สำเร็จมีอะไรบ้าง มากน้อยอย่างไร
“ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเรื่องการคมนาคม ขนส่งทางบกก็คือเรื่องการเวนคืนที่ดินไม่ทัน ยกตัวอย่างตอนนี้ที่เรากำลังจะสร้างรถไฟไปภาคตะวัน– ออกก็มีปัญหาเรื่องที่ดิน เจ้าของโครงการประมูลได้แล้วก็ยังไม่ยอมสร้างเพราะการรถไฟยังส่งมอบที่ดินไม่พร้อม ไม่ครบ”
ศึกษาความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเสี่ยง วิเคราะห์ ตั้งต้นให้ดี...วางแผนจัดการให้ดี ปัจจัยสำคัญเหล่านี้แสดงว่าต้องพึ่งมันสมองเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้มากๆ อย่าได้ทำแบบหลับตาข้างเดียว
สำคัญยิ่งกว่าสำคัญก็คือ เมื่อได้แผนที่สมบูรณ์แล้ว “แผน” ก็ต้องเป็นแผนอย่างนั้นไปจนสิ้นสุดโครงการ ไม่ใช่ว่า...การเมืองเปลี่ยนผ่าน ผู้บริหารบ้านเมืองเปลี่ยนยุคก็มาปรับแก้ ปรับเปลี่ยนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง...จนกลายเป็นปัญหาไปได้ในที่สุด
ประเด็นที่มีปัญหาในหลายๆโครงการที่ผ่านมาก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยน รัฐบาล สัญญาเปลี่ยน เพิ่มแก้ ปรับเปลี่ยน...ก็เป็นเรื่องของการเมือง ปรับไป คนทั่วไปก็ไม่รู้ ที่ศึกษาไว้ดีแล้วก็ถูกพับเก็บไป จะรู้อีกทีก็เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมา และต้องเน้นในเรื่องของ “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” ตัวเลขนี้ควรต้องปรับแก้
...
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ย้ำว่า ประเทศไทยอย่าไปใช้คงที่ ต้องหาทางแก้กฎหมายให้ชัดเจนให้ต่ำกว่านี้....คลองด่านก็ตัวเลขปรับเท่ากัน มูลค่าเสียหายไม่รู้เท่าไหร่
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” ภาคประชาชนช่วยกัน พ.ร.บ.ต้องแก้กฎหมาย ต้องมีหน่วยงานยกร่างขึ้นไป ทำประชาพิจารณ์ถามประชาชนเอาด้วยไหม...ต้อง “กระทรวงพาณิชย์” เป็นหัวเรือใหญ่ ถ้าเอาก็ส่งสัญญาณแสดงพลังให้ ครม.เห็นชอบ ส่งกฤษฎีกาแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำ เข้าสภาต่ออีกสองสภา ถ้ามีปัญหาก็ตั้งกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาอีก
แม้ว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้ามีคนเห็นด้วยเยอะก็จะเร็วหน่อย ถ้าเอ็นจีโอเห็นดีในข้อเปลี่ยนแปลงนี้ก็เข้ามาร่วมเร่งปฏิกิริยาเปลี่ยนผ่านนี้ได้ อัตราดอกเบี้ยต้องต่ำลง ไม่ควรเจาะจงอย่างที่เป็น 7.5%
“กฎหมายนี้ใช้กับเอกชนต่อเอกชน แต่เมื่อเอกชนมาเจอกับรัฐแล้วรัฐดูจะเสียเปรียบ โหดเกินไป...ก็ควรปรับแก้ให้ทันสมัย คำถามสำคัญ...สุดท้ายมีว่า ท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ท่านเจ้ากระทรวง ทบวง กรมต่างๆใต้ฟ้าเมืองไทย นับรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนคนไทย... เห็นความสำคัญในเรื่องนี้บ้างไหม”
วังวนปัญหา “ค่าโง่” เมกะโปรเจกต์ว่าแย่แล้ว ยังถูกขย้ำซ้ำเติมด้วย “ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5” ไม่เร่งปรับเปลี่ยนกันเสียแต่วันนี้ แล้วจะรอปรับแก้กันชาติไหน.