ร่อน จม.เปิดผนึก ปัดเกี่ยวข้องด้วย ตู่ตั้ง "วิชา มหาคุณ" สอบ "ตร.-อัยการ"

“บิ๊กตู่” อยู่ไม่ไหว เซ็นคำสั่งตั้ง “วิชา มหาคุณ” เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและ ข้อกฎหมาย กรณีอัยการ-ตำรวจ สั่งไม่ฟ้อง “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต พร้อมเปิดรับความคิดเห็นและข้อสงสัยของ ประชาชนด้วย นายกฯ ยัน ใช้อำนาจบริหารตรวจสอบ เพื่อความชัดเจน ความยุติธรรมต้องเกิดในสังคมไทย โดยไม่แบ่งชนชั้น แต่ไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม “วิชา มหาคุณ” เปิดใจเข้าใจคนไทยต้องการความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการต้องหาความจริง ต้องค้นหาสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ อาศัยคำสั่งนายกฯ เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำที่จำเป็นต่อการพิจารณา ถ้าบุคคลใดไม่มา มีสภาพบังคับตามกฎหมาย อาจไปถึงแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องการสอบสวนการสั่งคดีของอัยการ ด้านอัยการส่งตัวแทนแจง กมธ. ท่ามกลางการตั้งคำถามเป็นชุด ขอเวลา 7 วัน กลับมาตอบ ส่วนตำรวจอ้างคำสั่งไม่ฟ้องของ อสส. ถ้าไม่ผิดข้อกฎหมาย ตำรวจต้องไม่มีความเห็นเป็นอื่น ไม่สามารถโต้แย้งได้ สตม. แถลงตำรวจ สน.ทองหล่อ ขอถอนหมายจับบอสไปตั้งแต่ 14 ก.ค.แล้ว “ธานี อ่อนละเอียด” อดีต กมธ. กฎหมายและยุติธรรมฯ สนช. เปิดแถลงข่าวโต้ทุกข้อครหา อ้างผลตรวจความเร็วรถ มาจากนักวิชาการ น่าเชื่อถือ และคำร้องของ “บอส” เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตระกูล “อยู่วิทยา” ร่อนจดหมาย เปิดผนึก เรียกร้อง “บอส” ออกมาชี้แจง

...

กรณีสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ตีแผ่ข่าวอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา อายุ 31 ปี กรณีขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ ชนรถ จยย. ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิตบนถนนสุขุมวิท เหตุเกิดเมื่อเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555 แล้วหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จนถูกออกหมายจับ รวมทั้งออกหมายแดงตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) หลังจากการสั่งคดียืดเยื้อมากว่า 7 ปี ความผิดบางข้อหาหมดอายุความไปแล้ว เหลือแต่คดีใหญ่ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้งอย่างเงียบๆ ทำให้ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ขอถอนหมายจับทั้งในประเทศและหมายแดงของตำรวจสากล หลังความแตกสร้างกระแสความไม่พอใจให้คนในสังคมอย่างรุนแรง ถึงขนาดหน่วยงานอัยการ ตำรวจ รวมไปถึงรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้นตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“บิ๊กตู่” ตั้ง กก.สอบไม่สั่งฟ้อง “บอส”

ความคืบหน้าจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 29 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สืบเนื่องจากเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อและสังคมอย่างกว้างขวาง กรณีพนักงานอัยการและตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง คำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาผู้ต้องหาคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.55 ถือเป็นความอ่อนไหว กระทบกระเทือนความเชื่อมั่นในองค์กร เจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรม แม้ในส่วนการใช้ดุลพินิจและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการย่อมมีอิสระการสั่งคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายบริหาร และพนักงานสอบสวนจะอยู่ในการตรวจสอบตามกฎหมายและระเบียบของ สตช. แต่กรณีนี้มีเหตุพิเศษที่สังคมควรมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

เลือก “วิชา มหาคุณ” ปธ.สอบ

คำสั่งฯดังกล่าวระบุอีกว่า รวมถึงหากมีส่วนใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้การบังคับใช้กฎหมายและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ จะนำมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปโดยเร่งด่วน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 นายกฯมีคำสั่งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมี 1.นายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน 2.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 3.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 5.ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 6.นายกสภาทนายความ 7.คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9.คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นกรรมการ และ 10.ผอ.สำนักงาน ป.ย.ป.เป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ กรรมการตามข้อ 4 และ 5 อาจมอบหมายกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านนั้นๆ ที่ไม่มีส่วนได้เสียในคดีเข้าร่วมประชุมแทนได้ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกิน 5 คน

...

เปิดช่องประชาชนร้องเรียนได้

มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดี เสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การปฏิบัติหน้าที่ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนเสนอข้อแนะนำอื่นใดโดยไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว แล้วรายงานนายกฯภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ หากนายกฯเห็นว่าข้อเสนอแนะการปฏิรูปยังไม่แล้วเสร็จ อาจให้ขยายระยะเวลาอีกได้ ทั้งนี้ให้รายงานเบื้องต้นต่อนายกฯเป็นระยะทุก 10 วัน ทั้งนี้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารต่างๆจากเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็น และให้ สตช.ให้ความร่วมมือ คณะกรรมการฯอาจรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในคดีนี้จากประชาชนได้

“บิ๊กตู่” ฮึ่มยุติธรรมไม่มีแบ่งชนชั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. ถึงกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์และสงสัย กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา จากเหตุขับรถชนตำรวจเสียชีวิตว่า รัฐบาลฐานะฝ่ายบริหารจำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจประชาชน มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ ดังนั้นต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน อย่างไร และแก้ปัญหาโดยก้าวล่วงอัยการและศาลไม่ได้ แม้กระทั่ง สนช.ในอดีตและ ส.ว.ตนสั่งการอะไรไม่ได้ทั้งนั้น มีกลไกดำเนินการ รวมถึงตำรวจด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม “ขอให้มั่นใจนายกฯไม่ได้ปล่อยปละละเลย นิ่งนอนใจ ปัญหาเหล่านี้ จะต้องแก้ให้ได้ ความยุติธรรมจะต้องเกิดในสังคมไทยโดยไม่แบ่งชนชั้น”

...

ลั่น 5 ปีไม่เคยรับผลประโยชน์

นายกฯกล่าวด้วยว่า ตนย้ำเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆต้องเดินหน้า ทุกอย่างไม่เกี่ยวกับเรื่องการบริจาคอะไรคนละเรื่องกันทั้งหมด เรื่องผลประโยชน์ตนยืนยันไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น 5 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เคยเสียหายเรื่องเหล่านี้ ขอให้ความเชื่อมั่นกับตนด้วย ตนจะพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ ขอร้องให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อะไรที่มันร้อนๆช่วยลดกระแสลงไปบ้าง อย่าให้ร้อนมากนัก ตนยืนยันจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุดบนพื้นฐานความเป็นธรรม และนายกฯไปก้าวล่วงไม่ได้ ขอให้เข้าใจ อำนาจมันแยกกันอยู่ ต้องไปดูที่กฎหมายจะทำอย่างไรตรงนี้ เรื่องที่มีปัญหาตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบก็จบ เมื่อตรวจสอบแล้วจะชี้แจงมาและคิดว่าประธานที่ตั้งมาน่าจะเชื่อถือได้ มันต้องมีคำตอบ

“วิชา มหาคุณ” เผยเป้าการสอบ

ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังนายวิชา มหาคุณ อาจารย์ผู้บรรยายกฎหมายล้มละลายที่เนติบัณฑิตยสภา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในฐานะประธานคณะทำงานว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สังคมออกมาให้ตรวจสอบการสั่งคดีนายบอส จนมีการตั้งคณะทำงานหลายชุด มาถึงชุดของนายกรัฐมนตรี ท่านคิดว่าสังคมต้องการอะไรจากการค้นหาความจริงและผลออกมาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เป้าหมายของท่านในการพิจารณาครั้งนี้คืออะไร นายวิชากล่าวว่า คนไทยต้องการความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นอย่างไร เรารู้กันอยู่ เพียงแต่เราจะค้นหาความจริงหรือ Truth ได้อย่างไร “Truth” ไม่ใช่ “หาข้อเท็จจริง” มันมีความต่างกัน เราต้องค้นหาสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ ดังนั้นตามคำสั่งตั้งคณะทำงานนี้เรามีอำนาจเชิญบุคคลเข้ามาให้ถ้อยคำที่จำเป็นต่อการพิจารณา จึงเรียกพยานเข้ามาให้ข้อมูลความจริงที่เป็นประโยชน์ อาศัยระเบียบของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ถ้าบุคคลใดไม่มา มีสภาพบังคับตามกฎหมาย

...

เล็งแก้กฎหมายการสั่งคดีอาญา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสังคมคาดว่าท่านจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นายวิชากล่าวว่า ตนจะอาศัยอำนาจที่มีอยู่ค้นหาความจริงให้ปรากฏว่าที่ผ่านมาเรื่องนี้มีข้อบกพร่องอย่างไร เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี คนที่มีอำนาจสั่งการคือนายกฯ เราเพียงค้นหาความจริงแล้วเสนอแนะ เสนอข้อปฏิบัติเป็นขั้นตอนต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่าจะไปไกลถึงแนะนำให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการสอบสวนการสั่งคดีของอัยการหรือไม่ นายวิชาตอบว่า เป็นเป้าหมายอยู่แล้ว ก่อนมารับตำแหน่งนี้ได้บอกไว้ขณะถูกเชิญแล้วว่าถ้ามาแล้วมีส่วนทำไปถึงปฏิรูปกฎหมายได้ ตนจะยอมรับมาทำงานนี้

หาความจริงเรียกศรัทธา ปชช.

“ผมจะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลภายนอกที่เกี่ยวพันไปถึงเข้ามาในรายงาน แต่ไม่ใช่ว่าผมจะประสงค์เอาใครมาลงโทษ เพราะการลงโทษเป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่จะดูให้เกิดความจริงครบถ้วน เราต้องถือว่าต้องเรียกความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนกลับมา เรื่องนี้ไม่ใช่กระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของคนในประเทศเท่านั้น แต่มันสั่นคลอนไปทั่วโลก สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือ ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน และไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ แต่กับทุกคดี” นายวิชากล่าว และเปิดเผยต่อว่า ต่อไปองค์กรตำรวจต้องมีความเป็นอิสระ องค์กรอัยการอยากมีเงินเดือนเท่าผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอิสระอย่างผู้พิพากษา ความยุติธรรมมีอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายอยู่แล้ว เรื่องนี้พูดกันมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ กฎหมายไทยนั้นเขียนสุดยอด เป็นกฎหมายของคนฉลาด ถ้าเราบังคับใช้กฎหมายได้จริง จะทำให้ประเทศไทยเหนือกว่าประเทศอื่น

“บิ๊กป้อม” โบ้ยอัยการ–ตร.แจง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปฏิรูปตำรวจ สืบเนื่องจากคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อัยการและตำรวจต้องออกมาชี้แจง เมื่อถามว่า รัฐบาลต้องจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยหรือไม่ เพราะขณะนี้คนบางกลุ่มนำเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลรวมถึงตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว เมื่อถามว่า กังวลว่ากลุ่มนักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวจะนำประเด็นนี้ปลุกระดมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่หรอก เมื่อถามอีกว่า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นรัฐบาลต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ทุกอย่างทำไปตามขั้นตอน รอตำรวจและอัยการออกมาชี้แจง ส่วนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นเรื่องของเขาที่จะออกมาชี้แจง

ไม่รู้จักตระกูล “อยู่วิทยา”

เมื่อถามถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์ กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช.ยุค คสช.ว่าอาจมีส่วนทำให้นายวรยุทธหลุดคดี พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “โห มันไม่มีอำนาจ” เมื่อถามว่า มีการกล่าวอ้างไปถึง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา น้องชาย พล.อ.ประวิตร ฐานะประธาน กมธ.ดังกล่าว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “โห ตระกูลผมไม่รู้จักกับตระกูลเขาเป็นการส่วนตัวก็ไม่เคยรู้จัก แล้วเขาไม่เคยมาขอความช่วยเหลืออะไรผมเลย” เมื่อถามถึงกรณีตระกูลวิทยาบริจาคเงินให้รัฐบาล 300 ล้านบาทถือเป็นการบริจาคฐานะเจ้าสัวทั่วไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ใช่ๆ ไม่มีอะไรก็ว่าไปตามขั้นตอน

กมธ.ตำรวจเรียก ผบ.ตร.แจง 30 ก.ค.

ที่รัฐสภา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ฐานะโฆษกคณะ กมธ.การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า กมธ.ตำรวจเห็นว่ากรณีดังกล่าวกระทบกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับคดีรวมถึงการดำเนินการของพนักงานสอบสวนว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ การประชุม กมธ.ตำรวจวันที่ 30 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภาจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร.ที่กำกับดูแลงานด้านกฎหมายและคดี และ ผบช.น.มาให้ข้อมูลพร้อมขอเอกสารรายละเอียด เพื่อให้ประชาชนและสังคมทราบกระบวนการทั้งหมด

ขู่เป็นพยานเท็จระวังติดคุกแทน

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานกรรมาธิการการกฎมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทน ราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม กมธ.ที่เชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติมาให้ข้อมูลกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า กมธ.จะสอบถามข้อเท็จจริงว่า เรื่องนี้มีหลักฐานและสอบสวนอะไรไปบ้าง เอาข้อมูลสำนวนที่ทำตั้งแต่ต้นจนถึงสั่งไม่ฟ้องมาให้ประชาชนตัดสิน กมธ.จะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่าการมีพยานมาเพิ่มภายหลัง 2 คนถือว่าผิดปกติ จะขอดูว่าพยานเกิดตอนไหนและเป็นเท็จหรือไม่ อยากติดคุกแทนนายวรยุทธหรือไม่ หากเป็นพยานเท็จต้องติดคุกแทน กมธ.จะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด ให้ทันกรอบคณะกรรมการตำรวจและอัยการที่มีเวลา 15 วัน

ซัด ผบ.ตร.ปล่อยตำรวจตายฟรี

การประชุมสภาฯพิจารณารายงานความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม ที่คณะ กมธ.คมนาคม สภาผู้เเทนฯพิจารณาเสร็จแล้ว พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อดีตนักวิทยาศาสตร์ (สบ1) กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตร. อภิปรายตอนหนึ่งว่า การบังคับใช้กฎหมายบนท้องถนนต้องเท่าเทียม ต้องทำลายล้างระบอบวีไอพี ทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนของไทยตกต่ำติดระดับท็อปของโลก ล่าสุดมีกรณีรถยนต์วีไอพีประชาชนกลัวกันหมดแล้ว ถ้าถูกคนรวยขับรถชนจะตายฟรี ขนาดตำรวจชั้นผู้น้อยถูกคนรวยขับรถชนยังจะตายฟรี ถูกตำรวจด้วยกันทำสำนวนออกมาแบบนี้ ตำรวจชั้นผู้น้อยคับแค้นใจถูกกดขี่ต้องทำตามคำสั่งนายก็หนักพอแล้ว วันนี้เขาตายยังไม่ดูแลเขาอีก แม้แต่นายก็ไม่คิดเหลียวแล ฝากประธานสภาฯถามไปถึง ผบ.ตร.ว่า จิตใจท่านทำด้วยอะไร ไม่เคยคิดว่าวงการตำรวจจะตกต่ำได้ถึงขนาดนี้ภายใต้การบริหารของท่าน

“อัยการ” ส่งมวยแทนแจง กมธ.

ต่อมาเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุมมีวาระสำคัญคือ เชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด และ พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจงกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา แต่ปรากฏว่านายเนตรไม่ได้เดินทางมาชี้แจง กมธ. ให้นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 มาชี้แจงแทน ขณะที่ฝ่ายตำรวจมี พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ มาพร้อมกับ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จ.สมุทรปราการ อดีต ผกก.สน.ทองหล่อ และ พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.สน.ทองหล่อ มาชี้แจง ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนแน่นห้องประชุม

งงผลตรวจยาเสพติดล่องหน

ผู้สื่อข่าวรายงานเริ่มต้นการประชุม กมธ.หลายคนพากันซักถามข้อสงสัยประเด็นต่างๆมากมาย อาทิ นายโรม รังสิมันต์ กมธ.พรรคก้าวไกล สอบถามกรณีผลตรวจร่างกายนายวรยุทธจากทางโรงพยาบาลที่พบสารโคเคนในร่างกาย แสดงว่านายวรยุทธขับรถระหว่างเสพสารเสพติด แต่เหตุใดไม่มีในสำนวนการสอบสวนของตำรวจที่ส่งให้อัยการ และกรณีนายสุเวช หอมอุบล พ่อบ้านนายวรยุทธที่ออกมารับผิดแทนว่า เป็นผู้ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตดำเนินคดีอย่างไร แสดงให้เห็นว่า วางแผนให้มีแพะล่วงหน้าหรือไม่ ขณะที่นายคมเดช ไชยศิวามงคล กมธ.พรรคเพื่อไทย สอบถามว่า เหตุใดตำรวจจึงกลับคำเรื่องความเร็วรถเฟอร์รารี่ของนายวรยุทธจาก 177 กม.ต่อ ชม. แต่ 6 ปีต่อมาเปลี่ยนเป็น 80 กม.ต่อชม. ทั้งที่รถราคา 32 ล้านบาทถ้าขับด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อ ชม.จะเบรกได้ทัน แต่เหตุใดมีรอยลากยาวไป 160 เมตร แสดงว่าบิดเบือนเรื่องความเร็วจริงหรือไม่ และคณะกรรมาธิการกฎหมายและการยุติธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอำนาจอะไรสั่งให้อัยการพิจารณาประเด็นนายวรยุทธร้องขอความเป็นธรรม ทั้งที่เดิมอัยการไม่รับคำร้องขอความเป็นธรรมจากนายวรยุทธ

ข้องใจ อสส.พลิกสั่งไม่ฟ้อง

ขณะที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ สอบถามว่า เหตุใดตำรวจไม่แย้งคำสั่งอัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว และขอให้ กมธ.ใช้อำนาจเรียกคณะ กมธ.กฎหมายฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาให้ข้อมูลต่อ กมธ.ว่า เหตุใดส่งหลักฐานให้อัยการดำเนินการรับคำร้องขอความเป็นธรรมจากนายวรยุทธ ทั้งที่ กมธ.ชุดดังกล่าวไม่มีอำนาจการสอบหาพยานหลักฐานใดๆ และนายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ กมธ.พรรค เพื่อไทย ซักถามถึงกรณีอัยการเปลี่ยนแปลงการสั่งคดี จากที่เคยสั่งฟ้องนายวรยุทธมาเป็นสั่งไม่ฟ้อง

ยันผลตรวจยามีแต่ไม่ฟ้อง

ด้าน พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จ.สมุทรปราการ อดีต ผกก.สน.ทองหล่อ ชี้แจงว่า รายงานการ ตรวจสารแปลกปลอมในร่างกายนายวรยุทธอยู่ในสำนวนตำรวจส่งให้อัยการครบถ้วน แต่เหตุที่ไม่สั่งฟ้องข้อหานี้ เพราะเป็นดุลพินิจของคณะพนักงานสอบสวนหลายคน รายละเอียดเหล่านี้ขอไปชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ สตช.ตั้งขึ้น ส่วนเรื่องนายสุเวช หอมอุบล พ่อบ้านที่ออกมารับผิดแทนนายวรยุทธ แจ้งข้อหาแจ้งความเท็จ ศาลตัดสินลงโทษแล้ว ข้อสงสัยที่ว่าเตี๊ยมกันให้นายสุเวชเป็นแพะคงไม่ใช่ จากการสอบสวนนายสุเวชให้การไม่ได้เลย ไม่น่าจะใช่การเตี๊ยมให้รับผิดแทน การที่นายสุเวชรับผิดแทนเนื่องจากเป็นพ่อบ้านที่คอยติดตามนายวรยุทธ มีหน้าที่ขับรถตาม ที่ออกมารับผิดแทนเพราะเป็นหนี้บุญคุณพ่อผู้ต้องหา ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจรอหมายเข้าไปตรวจค้นบ้านวันเกิดเหตุ เห็นสมุดบันทึกเข้าออกบ้านอยู่บนป้อมยาม บันทึกว่านายวรยุทธขับรถออกจากบ้านตอน 05.00 น.และกลับเข้ามาไม่นานหลังเกิดเหตุ สันนิษฐานนายวรยุทธเป็นผู้ต้องหา ระหว่างเข้าไปตรวจค้นบ้านพบรถคันก่อเหตุมีร่องรอยความเสียหาย คนในบ้านยอมรับนายวรยุทธเป็นคนขับ นำตัวไปสอบสวน พร้อมขอให้เปิดเสื้อดูรอยบาดแผลว่า ขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดจริงหรือไม่ เนื่องจากแอร์แบ็กในรถแตก

อัยการขอ 7 วันไขทุกคำถาม

นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี ชี้แจงว่า สำนวนคดีนายวรยุทธมีทั้งหมด 4 แฟ้ม 5 ข้อหา แต่อัยการ 7 คนที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่เคยเห็นสำนวนทั้งหมดมาก่อน เพราะไม่ได้ดูคดีนี้ตั้งแต่แรก ขณะนี้อัยการทั้ง 7 คนอยู่ระหว่างตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด ขอเลื่อนการตอบคำถามต่างๆเป็นสัปดาห์หน้าต่อ กมธ. จะชี้แจงทุกคำถาม ทุกคำถามต้องมีคำตอบ ยืนยันไม่มีใครแทรกแซงการทำงานได้ ไม่ได้สอบเพื่อปกป้องคนสั่งไม่ฟ้องหรือคนผิด แต่สอบเพื่อชี้แจงประชาชนให้ได้ ไม่ต้องห่วงจะปกป้องใคร

“ชนสิษฎ์” รับสงสัยทำไมไม่ฟ้อง

ส่วน พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คดีนี้แม้แต่ตนและ ผบ.ตร.ก็ยังสงสัยทำไมไม่สั่งฟ้อง วันนี้หน่วยงานต่างๆ ตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนถึง 3 ชุด ขอเวลาสอบสวนข้อมูลทั้งหมดก่อน แล้วจะมาชี้แจงต่อ กมธ.ในสัปดาห์หน้าพร้อมกับอัยการ

สัปดาห์หน้าเรียกพยานชุดใหญ่

ช่วงท้ายการประชุม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ เสนอที่ประชุมว่า การพิจารณาคดีดังกล่าว อยากให้ กมธ. 3 คณะคือ กมธ.กฎหมาย กมธ.ศาล องค์กรอิสระ อัยการ และ กมธ.ตำรวจ มาร่วมกันพิจารณาพร้อมกันวันที่ 5 ส.ค. เพื่อเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงในคราวเดียว ที่ประชุม กมธ.กฎหมายเห็นด้วย นายรังสิมันต์เสนอให้ทั้ง 3 กมธ.พิจารณาเรื่องนี้ตลอดวันที่ 5 ส.ค.ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ให้ กมธ.เรียกเอกสารบันทึกการประชุมของ กมธ. กฎหมาย ยุค สนช. พร้อมเรียก พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตประธาน กมธ.กฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความนายวรยุทธ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด นายฤชา ไกรฤกษ์ รองอธิบดีอัยการ พ.ต.ท.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะอดีตนายตำรวจพิสูจน์หลักฐานคดีดังกล่าว นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ยืนยันว่า รถนายวรยุทธใช้ความเร็ว 80 กม. ต่อ ชม. ตลอดจนคณะกรรมการ 3 คณะที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาชี้แจง กมธ. 3 ชุด วันที่ 5 ส.ค. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

อดีต สนช.แจงรับสอบเรื่อง “บอส”

ด้าน นายธานี อ่อนละเอียด อดีตกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีการร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ อยู่วิทยา คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตว่า กรณีนี้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังพนักงานอัยการสูงสุด อ้างว่ามีประเด็นเกี่ยวกับความเร็วรถเฟอร์รารี่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ รองอัยการสูงสุดขณะนั้นไม่ได้นำมาพิจารณา มาร้องต่อ กมธ.วันที่ 4 พ.ค.59 มีนายธนิต บัวเขียว เป็นผู้รับมอบอำนาจมายื่นคำร้อง ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.59 เห็นว่า เรื่องร้องเรียนเข้าองค์ประกอบและไม่ใช่บัตรสนเท่ห์ กมธ.มีมติรับเรื่องไว้ศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพราะ กมธ.ไม่ใช่พนักงานสอบสวน

อ้างให้ความเป็นธรรมตาม รธน.

นายธานีกล่าวต่อว่า เมื่อรับเรื่องแล้ว กมธ.เชิญบุคคลต่างๆที่ระบุตามหนังสือร้องเรียนมาให้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง 8 คนคือ อดีตรองอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ พยาน 2 ปาก และพยานแวดล้อม 2 ปาก พยานเล่าให้ฟังว่า เห็นเหตุการณ์แต่ไม่อยากยุ่งเพราะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เมื่อเรื่องบานปลาย และการขอร้องให้มาเป็นพยานเพื่อมาให้การ หนึ่งในพยานบุคคลเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแต่ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ กมธ.ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอนักวิชาการตรวจสภาพความเสียหาย และคำนวณความเร็วของรถคือ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมประเมินและความปลอดภัยของยานยนต์ และเป็นสมาชิกศูนย์ความปลอดภัยทางถนน เป็นหน่วยงานอิสระที่ทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยในรถยนต์รุ่นใหม่ ทำงานร่วมกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ (Ncap) ทำรายงานส่งมา 1 ชุดให้ กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า ให้รวบรวมผลการศึกษาข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งอัยการสูงสุด อธิบดีอัยการให้ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ยืนยันว่าการดำเนินการของ กมธ.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ยันรถ “บอส” วิ่งแค่ 79 กม./ชม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการศึกษายืนยันความเร็วรถไม่ถึง 100 กม.ต่อ/ชม.ใช่หรือไม่ นายธานี ตอบว่า แบ่งเป็นสองประเด็นคือ เมื่อคนในองค์กรถึงแก่กรรมต้องเร่งดำเนินการ และสอบเพิ่มเติมหลังจากมีการร้องกับ สนช. อัยการสูงสุดสั่งให้สอบเรื่องความเร็วว่าเป็นอย่างไรกันแน่ เจ้าพนักงานจึงไปทำรายงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชาระดับนายพลจากความเร็วเดิม 177 กม.ต่อ/ชม. คลาดเคลื่อนจากเป็นจริง ผลการศึกษาระบุว่า ความเร็วรถคือ 76 กม.ต่อ/ชม. ก่อนมาชี้แจงอีกครั้งกับ กมธ. สอดคล้องกับผลการศึกษาของ ดร.สายประสิทธิ์ที่เป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นสมาชิก Ncap ในรายงานของ กมธ.ที่เสนอไปให้อัยการคือ 79 กม.ต่อ/ชม.

ไม่เอาผล พฐ.เพราะไม่มีคำร้อง

เมื่อถามย้ำอีกว่า เหตุใดกรรมาธิการฯ ไม่นำข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ที่ยืนยันว่าความเร็วรถเกิน 100 กม.ต่อ/ชม. นายธานีกล่าวว่า ไม่มีคนยื่นคำร้องมา แต่เราเชิญสารวัตรช่างเครื่องยนต์ ยศ พ.ต.ท. ทำคดีมาจำนวนมาก มาให้ความเห็นด้วย ยืนยันว่าจากความเสียหายความเร็วไม่น่าจะเกิน 80 กม./ชม. วิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือที่สุด พยานบุคคลยังกลับไปกลับมา ถ้าสงสัยสื่อต้องไปหาความรู้ หาแหล่งอ้างอิง จะเป็นประโยชน์ในการให้ความรู้กับประชาชนว่า วิธีการสืบหาข้อเท็จจริง โดยที่ว่าเราไม่ได้ว่า จินตนาการการกระทำความผิดไม่เลือกวัย ไม่เลือกความจน ความรวย ทุกคนมีโอกาสทำความผิดกันหมด แต่ข้อเท็จจริง ถ้าพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์แล้วศาลจะเชื่อถือข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าบุคคล

ปัดตอบปม 7 ปีพยานเพิ่งโผล่

เมื่อถามว่า ไม่สงสัยหรือว่าพยานใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัว ทั้งที่คดีนี้ผ่านมา 7 ปี นายธานีตอบว่า อย่าจินตนาการขอร้อง ทุกอย่างนำเปลือกหรือข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติมาอ้าง อีก 7 วันอัยการจะรวบรวมหลักฐานพยานเพื่อชี้แจง แล้วหลังจากนั้นค่อยตรวจสอบว่า มีเหตุผลหรือไม่ อัยการและตำรวจมีหน้าที่พิจารณามูลเหตุว่า เพียงพอฟ้องหรือไม่และอัยการเองไม่ได้ทำหน้าที่ตามอำเภอใจ หรืออัยการไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ หรือไม่ใช่พนักงานส่งอาหารที่มาอย่างไรส่งไปอย่างนั้น เขามีดุลยพินิจวินิจฉัย ถ้าใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจจะติดตัวไปจนตาย ตรงนี้ฝากสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนบ้าง ขอให้สื่อใจเย็นและให้สติปัญญากับประชาชน อย่าเร่งเร้าทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลนลานไปหมด ต่อข้อถามที่ว่า ทำไมกมธ.ถึงเรียกพยาน 2 ปาก ทั้งที่อัยการตีตกพยานไปตั้งแต่ปี 2555 แล้ว นายธานีตอบว่า มีการกล่าวอ้างชื่อในคำร้องของนายวรยุทธว่า การไม่ฟังพยาน 2 ปากนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม

อัยการยันสอบเสร็จใน 7 วัน

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานตรวจสอบการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ขับรถเฟอร์รารี่ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าจากการประชุมคณะทำงานฯว่า นำสำนวนมาพิจารณาแต่เช้ากระทั่งเวลา 15.00น.วันที่ 28 ก.ค. เห็นว่ายังมีเอกสารที่ต้องดูอีกเป็นจำนวนมากจึงพิจารณาต่อวันนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสำนวนโดยละเอียด นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงานฯได้วางกรอบแล้ว คงสามารถพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 7 วันถ้ามีความคืบหน้าจะนำเรียนพี่น้องประชาชนทราบ ส่วนความคืบหน้านั้น เราดำเนินการเป็นขั้นตอนโดยละเอียด ดูภาพรวมทุกมิติ

ขอเลื่อนชี้แจง กมธ.ไปก่อน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรเชิญตำรวจและอัยการไปชี้แจงคดี จะมีตัวแทนไปพบ กมธ.หรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า คณะทำงานยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ เป็นไปได้สูงที่จะขอเลื่อนไปก่อน ถ้าเราไปพบคงมีประเด็นทั้งหมดไปนำเรียนว่าเป็นอย่างไร สั่งตามข้อกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เหตุผลการสั่งเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากยังพิจารณาไม่เสร็จคงหารือกันในเช้านี้ มีแนวโน้มว่าจะขอเลื่อนไปวันหลัง ถามถึงกระแสข่าวว่านายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด จะไม่เดินทางไปชี้แจง กมธ.นายประยุทธกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ถามถึงกรณีนายวรยุทธยื่นขอความเป็นธรรมต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อัยการจึงสั่งสอบพยาน 2 ปาก ในสำนวนมีเรื่องนี้หรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า เนื้อในตนยังไม่ให้ความเห็น เป็นส่วนที่คณะทำงานพิจารณาอยู่ ขอให้รอ 7 วัน คงไม่นานนัก เมื่อคณะทำงานมีความเห็นอย่างไรจะนำเรียนโดยเร็วอยู่แล้ว เมื่อถามถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์การสอบคนในด้วยกันเองอาจจะไม่เป็นกลาง นายประยุทธกล่าวว่า ไม่มีความเห็น ทำตามระเบียบขั้นตอนของสำนักงานอัยการสูงสุด

ประธาน ก.อ.ป้ององค์กรเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการบันทึกข้อความถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ความว่า ด้วยปรากฏกรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย เป็นคดีสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี ขณะนี้สื่อมวลชน สื่อออนไลน์และการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นแง่มุมต่างๆในทางลบต่อพนักงานอัยการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 248 กำหนดหลักการสำคัญการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการและพนักงานอัยการว่า พนักงานอัยการมีอิสระพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง ไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง กระแสการวิพากษ์–วิจารณ์ข้างต้นก่อให้เกิดความคลางแคลงใจ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและมีผลเสียหายอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สาธารณชนทราบโดยด่วนที่สุด

ศาลแจง ตร.ยังไม่ขอถอนหมายจับ

ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตรวจสอบแล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ ยังไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ อยู่วิทยา เข้ามา ให้ศาลพิจารณา

กรรมการสอบ ตร.วาง 3 กรอบ

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นประธานประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับคณะกรรมการรวม 10 นาย กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ใช้เวลาในการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง หลังการประชุม พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่สอบหาข้อเท็จจริง ในขั้นตอนการดำเนินคดีอาญานายวรยุทธ อยู่วิทยา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประชุม สำหรับกรอบการประชุมกำหนดไว้ 3 กรอบ ประกอบด้วย เรื่อง การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน เรื่องการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการ และการดำเนินการพิจารณาความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 เบื้องต้นคณะกรรมการประชุมตามกรอบ และแบ่งหน้าที่ให้คณะกรรมการแต่ละท่านรับไปดำเนินการ จากนี้จะต้องเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกระดับมาสอบถามถึงขั้นตอนการดำเนินการ ในส่วนของคดีนายวรยุทธ ขณะนี้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว แต่ถ้ามีหลักฐานใหม่หรือผู้เสียหายจะฟ้องร้องเองจะไม่ตัดสิทธิ์

สอบการทำงาน พงส.ทุกขั้นตอน

พล.ต.อ.ศตวรรษกล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะดำเนินการในส่วนของตำรวจ ไม่ไปก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ดูในส่วนของตำรวจตั้งแต่รับคดีมาตั้งแต่แรก กระทั่งสุดท้ายดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ดำเนินการตามระเบียบหรือไม่ เป็นหลักสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ ผบ.ตร.กำชับให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการตามข้อเท็จจริงและโปร่งใส ต้องอธิบายได้เป็นขั้นตอนว่า ตั้งแต่คดีเกิดขึ้นพนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร จนกระทั่งสุดท้ายสั่งไม่ฟ้อง

แจงขั้นตอน ผบ.ตร.มอบงานผู้ช่วย

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการของคดีโดยทั่วไป เมื่อพนักงานอัยการมีความเห็นแล้วจะส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เห็นชอบหรือไม่ ตรงนี้คณะกรรมการจะพิจารณาว่า ใช้ดุลพินิจโดยชอบหรือไม่ชอบ แต่ต้องไม่ลืมว่า พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ใช้อำนาจของ ผบ.ตร.ตามป.วิอาญามาตรา 145/1 พิจารณาได้เฉพาะคำฟ้องของพนักงานอัยการเท่านั้น ไม่ใช่หน้างานสอบสวน ดูแค่ข้อกฎหมายตามพนักงานอัยการมีความเห็นมา ข้อกฎหมายถูกต้องหรือไม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจไปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก กรณี ผบ.ตร.ไม่ได้ลงนามเรื่องนี้ เนื่องจากแต่ละวันมีคดีที่ถามความเห็นมาประมาณวันละ 700 คดี การลงความเห็นตาม ป.วิอาญามาตรา 145/1 เป็นเรื่องทางเทคนิค มีผู้เชี่ยวชาญของกองคดีเฉพาะด้านดำเนินการอยู่ จะให้ ผบ.ตร.ดำเนินการทั้งหมดคงไม่ไหว ดังนั้น ผบ.ตร.จะแบ่งคดีแต่ละคดีให้ผู้ช่วย ผบ.ตร.ด้านนั้นๆรับผิดชอบ เมื่อมอบอำนาจแล้วถือเป็นอำนาจเด็ดขาดของผู้รับผิดชอบ ผบ.ตร.จะไม่กลับมาดูอีกแล้ว

คดี “บอส อยู่วิทยา” จบแล้ว

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หากการตรวจสอบพบว่า มีการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความผิดโดยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือกระทำความผิดด้านวินัย หากพบว่าใครกระทำความผิดต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นด้านอาญาหรือด้านวินัย ดังนั้น ถึงขณะนี้บอกได้ว่า คดีของนายวรยุทธจบไปแล้ว เราเข้ามาดูในส่วนขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอชี้แจงว่า การเห็นแย้งหรือไม่แย้งคดีที่มาจากอัยการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นไม่แย้ง มีแค่ร้อยละ 3 เท่านั้นที่เห็นแย้ง เหตุเพราะขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมาย ขั้นตอนการตรวจสอบคำฟ้องของพนักงานอัยการเท่านั้น ไม่ใช่ขั้นตอนของพนักงานสอบสวนที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องทั้งหมด

โยนอัยการสั่งสอบพยานใหม่

“กรณีสื่อมวลชนและสังคมถามว่า ทำไมพนักงานสอบสวนถึงเชื่อพยาน 2 ปากที่ให้การเมื่อปีที่แล้ว ขอชี้แจงว่า พยานทั้ง 2 ปากเป็นการสอบสวนตามคำสั่งพนักงานอัยการ ตามประเด็นที่สั่งมาเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์พิจารณาหรือออกความเห็นในช่วงนี้อีก ไม่สามารถดำเนินการอะไรทั้งสิ้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสร็จสิ้นเมื่อส่งสำนวนไปยังอัยการ ตามหน้างาน พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ลงนามออกไป เป็นประเด็นที่สงสัยไม่ได้ เพราะตรงนี้ไม่ใช่หน้างานพนักงานสอบสวนแล้ว เป็นการตรวจสำนวนเฉยๆ แม้สงสัยก็ไม่มีอำนาจ พล.ต.ท.เพิ่มพูนดูแค่ครบองค์ประกอบข้อกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ได้มาถูกต้องหรือไม่ ไม่มีสิทธิ์ถามกลับ การเห็นแย้งไม่ใช่แค่เห็นแย้งอย่างเดียว ต้องบรรยายว่า มีความเห็นแย้งเพราะอะไร มีพยานอะไรจึงเห็นแย้ง เรื่องของกฎหมายใช้ข้อสงสัยไม่ได้ ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นแย้งเรื่องข้อกฎหมาย แต่ขณะนี้เรายังพูดไม่ได้ว่า ความเห็นต่างๆไม่ว่าในชั้นพนักงานสอบสวนหรือ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ที่ไม่เห็นแย้ง เป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือไม่ คณะกรรมการต้องขอดูสำนวนและขอเวลาตรวจสอบอีกครั้ง จึงสรุปทุกอย่างได้อย่างชัดเจน” พล.ต.ท.จารุวัฒน์กล่าว

ตระกูลอยู่วิทยาร่อน จม.เปิดผนึก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตระกูลอยู่วิทยาส่งจดหมายเปิดผนึกจากพี่น้องอยู่วิทยา ผ่านอีเมลถึงสำนักข่าวต่างๆ ผ่านอีเมลของบริษัทฮิลแอนด์นอลตัน สแตรทิจีส์ ประเทศไทย บริษัทตัวแทนประชาสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและจำหน่าย ระบุว่า กรณีข่าวนายวรยุทธ อยู่วิทยา พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาต้องขอโทษสังคมเป็นอย่างสูง ที่ข่าวของบุคคลในครอบครัวได้สร้างความรู้สึกโกรธ เกลียด ไม่พอใจ จนเป็นเหตุของกระแสการเรียกร้องของสังคมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พวกเราไม่อาจปฏิเสธความสัมพันธ์ของการเป็น “อยู่วิทยา” คนหนึ่งของนายวรยุทธ อย่างไรก็ตามพี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาขอเรียนให้ทุกท่านทราบด้วยความจริงใจว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันเกิดเหตุครอบครัวนายวรยุทธไม่ได้หารือ หรือบอกเล่าการตัดสินใจ หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับพี่น้องเลย พวกเราไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจหลายเรื่องของนายวรยุทธที่เราติดตามจากข่าว แต่พี่น้องไม่เคยออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ ด้วยเพราะให้เกียรติครอบครัวนายวรยุทธ และคาดหวังว่าครอบครัวของนายวรยุทธจะทำทุกอย่างให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในที่สุด แต่ในวันนี้กระแสทางลบที่มากระทบกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีมากจนเกินกว่าจะแบกรับเหมือนทุกครั้งได้ ทำให้เราจำเป็นต้องออกจดหมายฉบับนี้

เรียกร้องให้ “บอส” ออกมาชี้แจง

พี่น้องทุกคนล้วนเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และยืนยันว่าพวกเราทุกคนให้ความเคารพในกฎหมาย และยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องสามารถสร้างความยุติธรรมให้กับทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน พี่น้องทุกคนขอเรียกร้องให้นายวรยุทธออกมาแสดงความกระจ่างและความบริสุทธิ์ใจ ให้ครอบครัวอยู่วิทยาที่เหลือ รวมทั้งสังคมและสื่อมวลชนให้เร็วที่สุด และดำเนินการให้ถูกต้องตามครรลองของสังคม พี่น้องทุกคนขอแสดงจุดยืนของครอบครัวอยู่วิทยา จุดยืนที่พวกเรายึดถือและปฏิบัติมาตลอดคือ การเดินตามปณิธานและคำสอนของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้เป็นพ่อและเป็นต้นแบบการใช้ชีวิต ที่สอนให้พวกเรายึดมั่นในการกตัญญูต่อแผ่นดิน พี่น้องครอบครัวอยู่วิทยาทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นสร้างสิ่งดีๆให้ประชาชน ชุมชน และสังคมไทย ตามวิถีและปณิธานที่คุณเฉลียวได้วางไว้ต่อไป ด้วยความเคารพ และเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสูงสุด 29 ก.ค.63 พี่น้องอยู่วิทยา สายพิณ พหลโยธิน (อยู่วิทยา) สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ปนัดดา อยู่วิทยา สราวุฒิ อยู่วิทยา ศักดิ์ชาย อยู่วิทยา จิรวัฒน์ อยู่วิทยา สุปรียา อยู่วิทยา นุชรี อยู่วิทยา