ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบรูปแบบการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ บนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจที่ก่อสร้างตอม่อไว้แล้ว พร้อมระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน โดยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

ดังนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงดำเนินการทบทวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ โดยวันนี้ “รายงานวันจันทร์” ได้รับการชี้แจงเรื่องนี้ จากรองผู้จัดการโครงการ ประสงค์ มงคลเนาวรัตน์ ดังนี้

ถาม-วัตถุประสงค์ของการศึกษา

ประสงค์-โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2543 แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป มีอาคารสูงมากขึ้น ปริมาณการจราจรบนถนนเกษตร-นวมินทร์ หนาแน่นเฉลี่ยวันละ 100,000 คัน/วัน ระดับเสียง ฝุ่น เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ในแนวสายทางเดียวกันบนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ

แนวเส้นทางโครงการเริ่มจาก กม.1 ถนนประเสริฐมนูกิจใกล้คลองบางบัวไปตามแนวเกาะกลางถนน ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม ทางพิเศษฉลองรัช ถนนนวมินทร์ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวเส้นทางเดิมที่ออกแบบไว้ จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทางตะวันออกตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจไปเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกฯ ระยะทาง 3.2 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางตั้งแต่คลองบางบัวจนถึงแยกนวลจันทร์-นวมินทร์ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร จะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลวางตัวใต้โครงสร้างทางด่วนโดยตอม่อรถไฟฟ้าจะก่อสร้างใหม่ อยู่ระหว่างเสาตอม่อทางด่วนที่ก่อสร้างไว้แล้ว ระยะทาง 6.9 กิโลเมตร

...

ถาม-การศึกษามีการเปลี่ยนแปลงของเดิมส่วนใดบ้าง

ประสงค์-การศึกษาพบว่า จำนวนอาคารสูงทั้งสองฝั่งถนนเพิ่มขึ้น จำเป็นจะต้องมีการติดตั้งกำแพงกันเสียงขอบทางด่วน จากเดิมมีเป็นบางช่วงเท่านั้น มีมาตรการจัดจราจรแบบพิเศษ หรือที่เรียกว่า ซิงเกิลคอมมานด์เซ็นเตอร์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบูรณาการทำงานร่วมกัน ณ จุดเดียวกัน นอกจากนี้จะมีหน่วยกู้ภัยประจำโครงการให้การช่วยเหลือประชาชนทุกกรณีแม้ไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างของโครงการ

ถาม-การศึกษาจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

ประสงค์-โครงการนี้ใช้เวลาศึกษา 10 เดือน วงเงิน 14.5 ล้านบาท เดิมกำหนดแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคมนี้ แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 จัดสัมมนาไม่ได้ จึงขยายกรอบเวลาออกไป ที่ปรึกษาจะส่งรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้ กทพ. ภายในวันที่ 16 กันยายน จากนั้น กทพ.จะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เห็นชอบ ส่วนการก่อสร้างทางด่วนและรถไฟฟ้าจะต้องทำไปพร้อมกันเพื่อลดผลกระทบจากการก่อสร้าง โดย กทพ.จะรับผิดชอบก่อสร้างเสาตอม่อรถไฟฟ้า ส่วน รฟม.จะรับผิดชอบเรื่องการติดตั้งวางคานและจัดหาเอกชนเดินรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนต่อไป.