หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ศัตรูสำคัญของไร่ข้าวโพด ระบาดที่ไหนสร้างความเสียหายได้ 100% ดร.โชคชัย เอกทัศนวรรณ ผู้เชี่ยวชาญโรคพืชและแมลง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะวิธีป้องกันกำจัดที่ได้ผล และช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมี ด้วยการสร้างกับดักจับตัวผีเสื้อกลางคืน เพื่อเป็นตัวชี้วัดการระบาด เกษตรกรจะได้ไม่ต้องฉีดพ่นสารเคมีมากเกินความจำเป็น

“เมื่อเกษตรกรปลูกข้าวโพดลงแปลงแล้ว ควรทำกับดักผีเสื้อ เพื่อจะได้รู้ตัวก่อนผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดจะมาวางไข่ออกลูกหลานทำลายไร่ข้าวโพด ด้วยการนำขวดพลาสติกมาเจาะหน้าต่างเป็นช่องที่มีขนาดพอดีให้ผีเสื้อเข้าไปได้ ขนาดกว้าง 4 ซม. สูง 5 ซม. ใส่กากน้ำตาลลงไปที่ก้นขวด ให้กากน้ำตาลสูงประมาณ 2 ซม. แล้วเติมน้ำเปล่าจำนวนเท่ากัน จากนั้นนำขวดไปผูกติดกับปลายไม้ให้สูงกว่าต้นข้าวโพด 30-70 ซม. พื้นที่ 1 ไร่ ควรวางกับดัก 5 จุด วางกับดักทั้ง 4 ด้านของแปลง และอีก 1 จุด บริเวณกลางแปลง เมื่อผีเสื้อกลางคืนได้กลิ่นน้ำหวานจากกากน้ำตาลจะบินเข้ากับดัก เมื่อปีกโดนกากน้ำตาลผสมน้ำ ปีกผีเสื้อจะเปียกไม่สามารถบินออกมาจากกับดักได้”

...

ดร.โชคชัย อธิบายถึงวิธีจำแนกแยกแยะผีเสื้อกลางคืนที่ติดอยู่ในกับดัก จะเป็นผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดหรือไม่ ให้สังเกตแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หน้า เมื่อกางปีกออกจะมีแถบลักษณะวงรีสีน้ำตาล ซึ่งสายพันธุ์อื่นๆ จะไม่มีแถบนี้

“ถ้าพบว่าใช่ผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แสดงว่าเริ่มมีการบินเข้ามาวางไข่ในแปลงปลูกแล้ว ให้รีบฉีดสารเคมีป้องกันภายใน 2 วัน ก่อนหนอนจะฟักออกมาจากไข่ และในวันที่ 3 ให้ตรวจดูต่อไปอีกว่า ยังมีผีเสื้อติดกับดักอีกหรือไม่ หากมีให้พ่นสารเคมีซ้ำไปอีกครั้ง จากนั้นให้ตรวจสอบทุก 7 วัน หากในกับดักยังพบผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดอยู่อีก ให้ฉีดอีกครั้งไปจนต้นข้าวโพดมีอายุได้ 1 เดือน ข้าวโพดจะรอดจากการถูกทำลาย”.