นายกนักประดิษฐ์ ชู 'เศรษฐกิจสร้างสรรค์' ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ชี้ไทยมี "อัตลักษณ์" สามารถสามารถประยุกต์ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี พร้อมเสนอให้ก้าวข้ามการสร้างมูลค่าจากการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและการใช้แรงงาน ไปเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการผลิตและบริการที่อิงกับการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น


เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63 นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวทางในฟื้นฟูดูแลหากวิกฤตคลี่คลายว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้น ตนเห็นว่า การแก้ปัญหา ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นทางเลือกที่รัฐบาลและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ควรจะนำขึ้นมาบริหารจัดการให้เป็นระบบและบูรณาการทั้งระบบและขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องจาก จุดเด่นของประเทศไทยและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่มีอยู่จะเห็นว่า จุดเด่นสำคัญที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปของเรา ได้แก่ จุดเด่นที่เกิดจากการได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าสูง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น High Touch เนื่องจากประเทศไทยมีทุนทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อาหารการกินที่อร่อยและหลากหลาย ศิลปหัตถกรรมที่ละเอียด ประณีต ซึ่งเราสามารถใช้นวัตกรรมด้านต่างๆ มาสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของจุดเด่นที่เป็น High Touch ที่ เป็น "อัตลักษณ์" ลักษณะเฉพาะตัวความเป็นไทยมีลักษณะเฉพาะของบุคคล สังคม ชุมชน เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น และศาสนา สามารถประยุกต์ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ได้เป็นอย่างดี

...


"การสร้างมูลค่าสินค้า หรือบริการที่เกิดจากความคิดของมนุษย์ สำหรับสาขาการผลิตที่พัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเรียกว่า'อุตสาหกรรม สร้างสรรค์' ซึ่งหมายถึงกลุ่มกิจกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่ง สำคัญ 'เศรษฐกิจสร้างสรรค์' คือแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ทางสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ 'การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์' คือ การเดินทางที่นำไปสู่ประสบการณ์ที่แท้จริงและมี การเชื่อมโยง ด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในงานศิลปะ มรดก หรือคุณลักษณะพิเศษของสถานที่ และยังทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตนั้นขึ้นมา พัฒนาและสร้างประชากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้โดดเด่นแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ"นายภณวัชร์นันท์กล่าว


นายภณวัชร์นันท์ กล่าวต่อว่า สำหรับการค้นหาทุนในท้องถิ่นนั้น ตนอยาก เริ่มต้นโฟกัสไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ คือ การค้นหาทุนดั่งเดิม เช่น งานฝีมือ การท่องเที่ยวเชิงศิลปะวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ธุรกิจอาหารไทย การแพทย์แผนไทย ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ กระจายเสียง เพลง งานออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม โฆษณา ซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ ส่วนท้องถิ่นยังสามารถนำงบประมาณ กำหนดพื้นเป็น ตำบลสร้างสรรค์ ค้นหาประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ในท้องถิ่น การพัฒนาจะต้องมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน การสื่อสาร และคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับภาคการผลิตสร้างสรรค์ การส่งเสริมการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น การให้คุณค่าต่อทรัพย์สินทางปัญญาจากความคิดสร้างสรรค์ โดย มีกฎหมาย และกฎระเบียบที่ช่วยในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ศึกษาวิจัยและพัฒนาเชิงลึกในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และทุนวัฒนธรรม โดย ทำการศึกษาใน 5 ประเภท ได้แก่

(1) มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และความหลากหลายทางชีวภาพ (2) เอกลักษณ์ศิลปะและวัฒนธรรม (3) งานช่างฝีมือและหัตถกรรม (4) อุตสาหกรรมสื่อ บันเทิง และซอฟต์แวร์ (5) การออกแบบและพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำผลิตภัณฑ์และบริการสู่ตลาดทั้งภายใน ประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ในการศึกษาวิจัยในเชิงลึกนี้ จำเป็นต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลและมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการกำหนดมาตรฐานขอบเขตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ชัดเจน สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนา ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative entrepreneurs) เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์ สินค้าและบริการรูปแบบใหม่ให้มีจุดเด่น และสามารถต่อยอดด้วยความคิดและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และก้าวทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เช่น การปรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การปรับเปลี่ยนรสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคที่มีความต้องการสินค้าและบริการ ที่มีความสร้างสรรค์มากขึ้น เป็นต้น


นายภณวัชร์นันท์ กล่าวด้วยว่า ในการนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก โอกาสใหม่โดยการสร้างความได้เปรียบจากความหลากหลายและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม และความเป็นไทยเพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์ ให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในเวทีระดับโลกได้ต่อไป ในอนาคต สร้างผลตอบแทนทางสังคมคิดเป็นมูลค่า และสร้างเงินหมุนเวียนให้แก่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น การลงทุนของภาครัฐในภาคสร้างสรรค์และนวัตกรรมไม่เพียงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ยังกระจายไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น ในอุตสาหกรรมการแพทย์ อย่างเครือข่าย Culture, Health การมีแผนธุรกิจที่สามารถรองรับความเสี่ยงและดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนได้ไปพร้อมกัน เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม องค์กรที่ทำงานด้านวัฒนธรรมจะประสบความสำเร็จทั้งในทางสร้างสรรค์และในทางธุรกิจได้ ต้องอาศัยแหล่งรายได้ที่หลากหลาย โดยมีการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลักในการขับเคลื่อนความคิดใหม่ๆ แล้วนำไปเสนอในเวทีที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเอกชน

...

"มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ณ สิ้นปี 2560 มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยใช้ข้อมูลมูลค่าอุตสาหกรรม TSIC 4 หลัก(ไม่รวมนับซ้ำ) นับรวมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ภาคบริการ คำนวณจาก 15 กลุ่มอุตสาหกรรม (รวมภาคบริการ) คือ อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม การออกแบบ ทัศนศิลป์ การพิมพ์ สถาปัตยกรรม แฟชั่น ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การกระจายเสียง การโฆษณา ซอฟท์แวร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง อาหารไทย แพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยว ดังนั้น ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในขั้นต้นเศรษฐกิจไทยควรคำนึงถึงการก้าวข้ามการสร้างมูลค่าจากการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและการใช้แรงงาน ไปเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการผลิตและบริการที่อิงกับการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันพร้อมไปกับวางรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นคำตอบที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม และสารมารถทำให้ระบบเศรษฐกิจไทย ไทยพึ่งไทย ไทยเที่ยวไทย ไทยใช้สินค้าไทย เหลือส่งออก เป็นคำตอบที่สำคัญ" นายภณวัชร์นันท์กล่าว.