ขสมก.ผ่อนคลายมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม บนรถประจำทาง รองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 70% สอดรับผ่อนคลายมาตรการผ่อนปรนระยะ 5 และต้อนรับเปิดเทอม 1 ก.ค.โดยอนุญาตผู้เดินทางเป็นครอบครัว นั่งติดกันได้ 

วันที่ 26 มิ.ย. นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลได้เตรียมผ่อนคลาย มาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระยะที่ 5 โดยอนุญาตให้กิจการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานบันเทิงต่างๆ สามารถเปิดให้บริการได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โดยจะมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ประกอบกับ กระทรวงคมนาคม มีนโยบาย ให้หน่วยงาน ในสังกัด เตรียมผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้สามารถรองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 70% โดยอนุญาตให้ผู้ใช้บริการที่เดินทางมาด้วยกัน หรือเดินทางมาเป็นครอบครัวสามารถนั่งติดกันได้ บนเบาะที่นั่งที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.เพิ่มขึ้นเป็น วันละ ประมาณ 9 แสนคน ขสมก.จึงจัดแผนการเดินรถโดยสาร ในช่วงมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 5 และช่วงเปิดภาคเรียน ดังนี้

...

ด้านรถโดยสาร

1. จัดรถออกวิ่ง 100% (3,000 คัน/วัน) หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา โดยมีเที่ยววิ่งเฉลี่ย วันละประมาณ 25,000 เที่ยว ซึ่งก่อนนำรถออกวิ่ง จะใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นและเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือ บริเวณประตูทางขึ้น

2. กำหนดจุดนั่ง (เบาะที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท) และจุดยืนให้มีระยะห่างกัน 1 เมตร ซึ่งรถโดยสาร 1 คัน อนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืนได้ไม่เกิน 10 คน กรณีผู้ใช้บริการเต็ม พนักงานเก็บค่าโดยสาร จะติดป้ายข้อความ “ผู้ใช้บริการเต็ม โปรดใช้บริการ รถคันถัดไป” บริเวณกระจกหน้ารถโดยสาร พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป

3. กำหนดจุดนั่งเบาะคู่ (เบาะคู่ที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาททั้ง 2 เบาะ) เพิ่มเติม สำหรับให้ผู้ใช้บริการที่เดินทางมาด้วยกัน หรือ ผู้ใช้บริการที่เป็นครอบครัวเดียวกัน สามารถนั่งติดกันได้

4. ตรวจเช็กสภาพ และตรวจสอบการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ของรถโดยสาร ให้มีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งตรวจเช็กประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

5. ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์

ด้านบุคลากร

1. กำกับดูแลพนักงานขับรถโดยสารให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร คอยดูแลการขึ้น-ลงของผู้ใช้บริการอย่างใกล้ชิด ให้บริการด้วยความสุภาพเรียบร้อย
2. ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้ง ก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร พร้อมทั้งกำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
3. จัดพนักงานนายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษประจำจุด ณ บริเวณหน้าโรงเรียน และป้ายหยุด รถโดยสาร ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และดูแลการขึ้น-ลงรถของผู้ใช้บริการ

ด้านผู้ใช้บริการ

1. ผู้ใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะใช้บริการรถโดยสาร
2. ผู้ใช้บริการจะต้องนั่ง และยืนตามจุดที่กำหนด กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป
3. กรณีผู้ใช้บริการที่เดินทางมาด้วยกัน หรือเดินทางมาเป็นครอบครัว สามารถนั่งบนเบาะที่นั่งคู่ที่กำหนดไว้ (เบาะคู่ ที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาททั้ง 2 เบาะ) ส่วนผู้ใช้บริการที่เดินทางมาคนเดียว ขอความกรุณานั่งบนเบาะที่นั่งอื่นๆ ที่ไม่มีเครื่องหมายกากบาท
4. เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บนรถโดยสาร เพื่อเช็กอินเมื่อขึ้นรถ และเช็กเอาต์ก่อนลงจากรถ
5. ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด

ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้บริการ สอบถามเส้นทางรถเมล์ หรือ แนะนำบริการได้ที่ www.bmta.co.th, facebook bmta@bmta.co.th หรือ ศูนย์ Call Center 1348 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น. เป็นต้นไป