องค์กรพิทักษ์สัตว์เปิดแคมเปญล่ารายชื่อแก้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ยุติทารุณกรรมบังคับเสือให้ผสมพันธุ์ในกรงขัง เลิกเฆี่ยนตีเสือมาเป็นนักแสดงเพื่อความบันเทิง ย้ำรัฐบาล - ทส. ต้องเพิ่มโทษ หรือ ออกประกาศปิดช่องโหว่ "ธุรกิจมืด" แฝงตัวในคราบสวนสัตว์ลักลอบผสมพันธุ์เสือผลิตลูกเพื่อขายอวัยวะทำยาโด๊ป และของขลังส่งออก จีน - เวียดนาม 


เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยถึง "โครงการยุติการผสมพันธุ์เสือเพื่อความบันเทิง" เนื่องจากเป็นการทารุณกรรมสัตว์อย่างรุนแรง จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมกันลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2560 ใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. ห้ามอนุญาตให้ผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เนื่องจากการผสมพันธุ์ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลเสียทางด้านพันธุกรรมที่เกิดจากการผสม และ 2. ห้ามนำเสือมาเป็นนักแสดงเพื่อความบันเทิง เพราะเป็นการทารุณสัตว์อย่างโหดร้ายขัดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศที่เป็นสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส

"เรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (ทส.) ปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เนื่องจากเป็นต้นตอปัญหาลักลอบค้าขายอวัยวะหรือชิ้นส่วนของเสือไปเป็นยาบำรุงกำลังและของขลังไปยังประเทศจีนและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดนำเข้าใหญ่ระดับโลกที่สวนเสือหรือสวนสัตว์บางแห่งที่อยู่ในจังหวัดตามแนวชายแดนของไทยส่งชิ้นส่วนหรืออวัยวะเสือไปจำหน่ายหาประโยชน์ทางธุรกิจมืด" นายปัญจเดชกล่าว และว่าไม่ได้ห้ามผสมพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ เช่น เสือสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานฯ หรือสวนสัตว์ของรัฐ ที่ทำการเพาะพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์ เช่น ศูนย์เพาะพันธุ์เสือของกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือหน่วยงานวิจัยอื่นๆ แต่ไม่ใช่ผสมพันธุ์เสือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

...



ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า การผสมพันธุ์เสือยังโยงไปถึงการลักลอบการค้าชิ้นส่วนเสือ เช่น กระดูกเสือ หนัง เขี้ยวเสือ เนื้อเสือ รวมไปถึงลูกเสือเพื่อใช้ทำยาแผนโบราณ จากกรณีวัดถ้ำเสือ พบว่ามีการผสมพันธุ์ลูกเสือและดองลูกเสือไว้ในโหลมากกว่า 70 ตัว ในตลาดมืด พบว่าราคาซากเสือแต่ละตัวมูลค่าสูงถึง 1,500,000 บาท ในขณะที่ถึงแม้ว่าในระดับสากลจะมีกฎหมายควบคุมอยู่ เช่น อนุสัญญา ไซเตส แต่อย่างไรก็ดีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังมีน้อย

นอกจากนี้ยังพบว่า การบังคับเสือเพื่อให้แสดงเสือมักจะถูกขังในกรงที่คับแคบ และการฝึกบังคับที่ทารุณก่อนและระหว่างการแสดง เช่น การใช้ไม้ทุบตี การดึงหนวดดึงหาง การเตะถีบ รวมทั้งการไม่ให้อาหารเมื่อเสือไม่ทำตาม การกำราบด้วยวิธีการเช่นนี้ ทำให้เสือหวาดกลัว เครียด และเกิดการบาดเจ็บ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติได้ชัดเจน

นายปัญจเดช กล่าวถึงสาเหตุที่คัดค้านการผสมพันธุ์เสือในกรง และห้ามนำเสือมาเป็นนักแสดง เนื่องจากกระบวนการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม ทั้งขนาดของกรง สถานที่เลี้ยง อาหาร รวมทั้งการฝึกเสือเพื่อนำมาเป็นนักแสดง ทำให้เสือแต่ละตัวต้องพบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส นับตั้งแต่ลูกเสือที่ถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้แม่เสือมีโอกาสผสมพันธุ์อีกครั้งได้เร็วขึ้น ซึ่งตามปกติ ลูกเสือจะหย่านมเมื่ออายุ 4-6 สัปดาห์ และแยกจากแม่เมื่ออายุ 1-2 ปี กลับถูกนำมาเลี้ยงโดยคนเมื่ออายุเพียงแค่ 2 เดือน และให้อาหารที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของลูกเสือ ทั้งยังต้องทำกิจกรรมเพื่อให้ความบันเทิงกับคน เช่น ถูกอุ้มถ่ายรูป และป้อนนมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ลูกเสืออ่อนแอและมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการแยกลูกเสือออกมาฝึกเพื่อการแสดง เช่น การลอดห่วงไฟ หรือการจัดแสดงที่ขัดกับหลักพฤติกรรม เช่น การขังรวมเพื่อให้ลูกเสือใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ชนิดอื่น เช่น การให้กินนมจากแม่หมู การถ่ายรูปคู่กับเสือ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการทารุณกรรมสัตว์ เสือเหล่านี้อาจถูกวางยา หรือถอดเล็บเพื่อให้เชื่อง เซื่องซึม เพื่อที่จะให้ผู้คนได้มีโอกาสถ่ายรูปอย่างใกล้ชิด



"โครงการนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการปิดสวนเสือ แต่มุ่งเน้นการควบคุมการผสมพันธุ์เสือ ทั้งนี้ในประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ ยังมีช่องว่างในเชิงนโยบายและกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้สวัสดิภาพของเสือที่อยู่ในกรงยังไม่ได้รับการคุ้มของตามสิทธิสัตว์ หลัก 5 Freedom เช่น สภาพแวดล้อม ที่ยังไม่เอื้ออำนวย อาหาร รวมไปถึงการบังคับสัตว์ เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ขัดกับหลักพฤติกรรม" นายปัญจเดชกล่าว

สำหรับประเทศไทย จากงานวิจัยขององค์กรพิทักษ์สัตว์โลกในปี พ.ศ. 2559 มีเสือที่เกิดจากการผสมพันธุ์จำนวนมากถึง 375 ตัว ในสถานที่ที่จัดแสดงเสือ ทั่วประเทศ 17 แห่ง สถานที่ที่จัดแสดงเสือเพื่อความบันเทิงแห่งหนึ่ง มีเสือจำนวนมากถึง 400 ตัว และพบลูกเสือเกิดใหม่อยู่เป็นประจำ และเมื่อกล่าวถึงการค้าชิ้นส่วนเสือ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเท่าไรกับการผสมพันธุ์ในสถานที่เหล่านี้เพื่อการค้าดังกล่าว แต่สันนิษฐาน ได้ว่า เมื่อลูกเสือเหล่านี้จะถูกฆ่าเพื่อขายชิ้นส่วนในการทำยาแผนโบราณและทำเป็นเครื่องประดับราคาแพง และลูกเสือที่เหลือจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมความบันเทิง เสือที่ถูกผสมพันธุ์ในสถานที่เหล่านี้ถูกขังในสถานที่จำกัดและอยู่ในกรง ซึ่งทำให้เสือสูญเสียสัญชาตญาณของเสือและไม่มีโอกาสล่า หรือแม้แต่การได้เล่น ภายใต้เงื่อนไขที่ทรมานเหล่านี้ เสือต้องถูกจำกัดพฤติกรรมและเป็นการทำให้เสือกลัว.

...