จ่อให้ ครม.ทบทวนลูกจ้างบุกแรงงานกินข้าวคลุกนํ้าปลาประชดใกล้อดตาย

นายกรัฐมนตรีอยากเห็นโรงทาน-ตู้ ปันสุขเพิ่ม สั่งดูแลมีคนเฝ้า-ติดกล้อง ดูตู้แบ่งปัน คลังเคาะแล้วเกษตรกร ผ่านเกณฑ์ชุดแรก 6.77 ล้านราย โดย 1 ล้านคนแรกรับเยียวยา 5 พันบาท 15 พ.ค.นี้ เผยเจอข้อมูลซ้ำซ้อนกว่า 6 แสนราย แฉพบข้าราชการยื่นรับสิทธิ์เยียวยาด้วยอ้างเป็นอาชีพสอง จ่อเสนอ ครม.ทบทวนสิทธิ์ ขณะที่คนยังแห่ร้องทุกข์เงิน 5 พันบาท ที่กรมประชาสัมพันธ์ กลุ่มลูกจ้างโรงงานผลิตถุงเท้าร้อง ก.แรงงาน นั่งกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาประชดใกล้อดตายหลังถูกนายจ้างลอยแพ พศ.ตั้งโรงทานตามพระบัญชา “สมเด็จพระสังฆราชฯ” 914 แห่งทั่วประเทศ ส่วนต่างประเทศอีกกว่า550 แห่ง ตม.จับอีกแก๊งชาวจีนยึดหน้ากากอนามัยกว่า 3 หมื่นชิ้น ขายเกินราคา

หลังรัฐบาลมีมติต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน ควบคู่ไปกับการนำมาตรการหลายอย่างออกมาบังคับใช้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย พร้อมๆกับมาตรการเยียวยาประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพ รวมถึงการคลายล็อกให้ดำเนินกิจกรรม 6 กลุ่ม 6 กิจการ อาทิ ตลาด ร้านขายอาหาร กิจการค้าปลีกส่ง ทั้งซุปเปอร์มาเกต กิจกรรมในสวนสาธารณะ ฯลฯ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมปลดล็อกระยะ 2 เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ วันที่ 16 พ.ค. แต่ยังมีขู่ เปิดได้ ก็ปิดได้ ถ้าลืมตัวไปเรื่อย ไม่ร่วมมือใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง รวมทั้งเรื่องรับไม่ได้ หลังปรากฏภาพว่อนคนบางชนิดแห่โกยของในตู้ปันสุขหมดในพริบตา

...

บิ๊กตู่อยากเห็นโรงทาน–ตู้ปันสุขเพิ่ม

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า มาดูโรงครัวและโรงทานของวัดที่ทำอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนทั้งที่มารับที่วัด และนำไปแจกจ่ายยังชุมชนที่ทำมาต่อเนื่อง ดูแลประชาชนวันละกว่าพันคน ควรเอาเป็นแบบอย่าง สิ่งสำคัญวันนี้คนมีความตั้งใจเผื่อแผ่มากขึ้น ถ้าช่วยกันส่งเสริมให้มีโรงทานตามที่ต่างๆ เขาจะสามารถนำไปบริจาคได้ เป็นความสุขทางใจเมื่อเห็นรอยยิ้มของผู้รับ ขอฝากอยากเห็นการจัดตั้งโรงทาน ตู้ปันสุข หรือตู้แบ่งปันมากขึ้น ถือเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี แสดงถึงวัฒนธรรมเผื่อแผ่แบ่งปัน คนที่มีศักยภาพนำของบริจาคช่วยกัน

สั่งเฝ้า–ติดกล้องดูตู้ปันสุข

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า หลายอย่างต้องทำความเข้าใจกัน อาจเกิดปัญหาบ้างก็แก้ไขกันไป มีมาตรการทางสังคมอยู่แล้ว สั่งการให้ดูแลเรื่องตู้แบ่งปันให้มากขึ้น ให้มีคนเฝ้าและติดกล้องบันทึกว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไร ไม่อยากลงโทษใคร เพียงแต่วันนี้เราต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องนึกถึงคนอื่น นำของไปใช้แต่พอดีเพียงพอ สิ่งที่ห่วงวันนี้คือเรากำลังเดินหน้าไปสู่ชีวิตใหม่ วันข้างหน้าประชาชนไม่ออกไปนอกบ้านเหมือนเดิม ต้องปรับปรุงการขายออนไลน์ ดีลิเวอรี ปลูกพืชผักสวนครัวตามอพาร์ตเมนต์ บ้านเรือน จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็ก– ทรอนิกส์มากขึ้น ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมในชีวิตวิถีใหม่ เรียนรู้ในระบบเหล่านี้ เพื่อนำมาสร้างอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต พฤติกรรมเดิมๆคงไม่ได้แล้ว เป็นห่วงเรื่องนี้ พร้อมฝากสื่อและสังคมช่วยกันเผยแพร่เรื่องเหล่านี้ด้วย

ผลพวงเหลื่อมเวลาแก้รถติดได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ส่วนการขยายเวลาทำงานที่บ้านของเอกชนและภาคธุรกิจ ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาจราจร รวมถึงการเรียน ให้นโยบายไปแล้วดูว่าวิชาใดเรียนออนไลน์ และโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมได้บ้าง ช่วยลดเวลาที่ต้องไปโรงเรียน และมาตรการทำงานเหลื่อมเวลาทำให้การจราจรไม่ติดขัด แต่ต้องคำนึงถึงผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานไปโรงเรียน ให้จัดระเบียบในองค์กรว่าพนักงานคนใดมีลูกวัยไหนเพื่อจัดเวลาเข้าทำงาน สั่งการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปหาวิธีการที่จะให้โรงเรียนเปิดเหลื่อมเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จราจรหนาแน่น

ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ก็ประมาทไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้ต้องคิดระยะยาวเพื่อลูกหลาน นักบริหารต้องคิดแบบนี้ แก้ปัญหา ทำปัจจุบัน คิดและเตรียมสู่อนาคตในเวลาเดียวกัน นั่นคือหลักการของผู้บริหารที่ดี ขอเตือนแม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง แต่อย่าประมาท ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเชื้อโรคยัง สะสมอยู่ บางคนไม่แสดงอาการ ไม่ใช่ติดเชื้อน้อยแล้วจะผ่อนปรนมากขึ้น อยากให้เปิดใจจะขาด แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร

...

พศ.ตั้งโรงทาน 77 จังหวัด 914 แห่ง

ขณะที่นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราชฯทรงมีพระบัญชาลงมา ให้ พศ.ประสานวัดที่มีศักยภาพเพียงพอ จัดตั้งโรงทาน 77 จังหวัด รวม 914 โรงทาน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 2.7 แสนคน คิดเป็นเงินงบประมาณ 10.9 ล้านบาท คิดเฉลี่ยค่าหัว 40 บาทต่อคน ขณะที่วัดเล็กที่อยากช่วยเหลือ มีการจัดตั้งโรงทานที่เป็นลักษณะตู้ปัน ความสุข ที่กำลังแพร่หลายอยู่ช่วงนี้ วัดจะมีระบบการจัดคิวลดความแออัดมีจุดคัดกรอง มีทางเข้าและออกชัดเจน ประชาชนต้องใส่แมสก์ และเว้นระยะห่าง สำหรับผู้ที่จะมาประกอบอาหาร เป็นแม่ครัว เป็นจิตอาสา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถเปิดร้านขายได้ และเมื่อเข้ามาอาหารต้องสะอาดตามมาตรฐานสาธารณสุขและรัฐบาล

วัดไทยใน ตปท.อีกกว่า 550 จุด

นายณรงค์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีหลายวัดมีแนวคิดตั้งโรงทานเคลื่อนที่ นำอาหารที่ปรุงสุกใหม่นำส่งถึงมือประชาชน โดยจะประสานผู้นำชุมชนว่าจะเข้าไปที่ไหน เวลาใด ไม่ให้ประชาชนต้องมาแออัดชุมนุมกันที่วัด และจะต่อยอดโดยใช้หลักธรรมพระพุทธศาสนากับศาสตร์พระราชา ใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารพิษ และการตั้งโรงทานไม่มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มีวัดไทยในต่างประเทศอีกกว่า 550 แห่ง

ตัวเลขเป็นศูนย์ยังวางใจไม่ได้

...

ต่อมาเวลา 11.30 น.ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ว่า การไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้ จะสรุปได้หรือไม่ว่าประเทศไทยปลอดภัยแล้วว่า ยังไม่ได้ การเป็นศูนย์ในวันนี้อาจมีคนที่ฟักเชื้ออยู่แล้วเจอพรุ่งนี้ เหมือนกับเกาหลีใต้ที่พบ 1 ราย และนำไปสู่การติดเชื้ออีก 102 ราย ของไทยก็เหมือนกัน ถ้ามีแม้แต่คนเดียวแล้วเขาไปสัมผัสกับคนอื่นก็สามารถติดเชื้อได้ การเป็นศูนย์นั้นต้องเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 14 วัน หรือบางทฤษฎีบอกว่าต้อง 21 วัน ตอนนี้เรายังไม่มีรายงานแบบนั้น ขนาดจีนเป็นศูนย์มาหลายวันยังกลับมาระบาดใหม่ จึงวางใจไม่ได้ ส่วนความกังวลว่าตู้ปันสุขจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อนั้น เห็นข่าวที่มีคนไปชุลมุนแออัด เพื่อเอาของในตู้เป็น ภาพที่ไม่ค่อยน่าดู เราต้องอยู่ในชีวิตวิถีใหม่ ใครอยู่ใกล้ตู้ขอให้ช่วยทำความสะอาดพื้นผิว เพราะถ้าดูแลไม่ดีอาจเป็นโอกาสให้เกิดการแพร่โรคได้

“ตู้ปันสุข” ผุดกระจายทั่วประเทศ

ส่วนกรณี “ตู้ปันสุข” ที่ประชาชนนำตู้กับข้าวใส่อาหารแห้งมาตั้งไว้ช่วยเหลือคนยากจนและให้คนใจบุญนำสิ่งของมาบริจาคในตู้ กลับมีคนบางกลุ่มมารุมขนเอาของในตู้ไปหมดเกลี้ยงไม่เหลือให้คนอื่น กลายเป็นกระแสดราม่าในโลกโซเชียล จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับออกมาบอกว่ารับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเริ่มมี “ตู้ปันสุข” ออกมาตั้งวางเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกจังหวัด และเหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนมารุมทึ้งกวาดของในตู้ก็ไม่ค่อยมีให้เห็นอีก หลังจากมีเสียงวิพากษ์–วิจารณ์จากผู้คนในสังคม ที่ตั้งตู้ปันสุขหลายจุดปรับวิธีจากเดิมที่ตั้งตู้ใส่ของทิ้งไว้ให้มาหยิบเอาเอง เปลี่ยนเป็นมีคนมาคอยดูผู้มาหยิบสิ่งของจากตู้ไม่ให้เอาไปจนเกินความจำเป็น หรือกำหนดให้หยิบสิ่งของได้ครั้งละ 2-3 ชิ้น เป็นต้น

...

ปลูกฝังเด็กๆ รู้จักการแบ่งปัน

เช่นเดียวกับที่ตลาดโต้รุ่ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ นายปรีดา ตั้งตระการพงษ์ นางพรปวีณีย์ ซาบำเหน็จ นางสาววาริศา เห็มภูมิ นายแพทย์อนุพล ตั้งบุญนนท์และเพื่อนๆ ร่วมกันจัดตู้ปันสุข วางไว้ที่หน้าร้านตั้งประสิทธิ์ เอเย่นต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ นายปรีดาเผยว่า ดีใจที่เห็นคนมาหยิบของและนำสิ่งของมาร่วมใส่ในตู้ เป็นการแบ่งปันกันในสังคม เหมือนการแลก เปลี่ยนของกันในชุมชนผ่านตู้นี้ได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาวางสิ่งของในตู้ และเด็กๆได้หยิบขนมไปกิน ทำให้เป็นการปลูกฝังการแบ่งปันกันตั้งแต่ยังเล็ก

ตร.ท้องที่–จิตอาสาดูแล

ขณะที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่า การที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีคำสั่งผ่อนคลายล็อกดาวน์รอบ 2 ขณะนี้ตำรวจยังคงต้องรอดูคำสั่งก่อนว่าทางรัฐบาลจะให้ปฏิบัติการในด้านใด ชุดตรวจร่วมก็มีความพร้อมอยู่แล้ว หากต้องการกำลังเพิ่มเติม ตำรวจพร้อมที่จะเป็นสื่อกลางในการดำเนินการด้วย สำหรับตู้ปันสุขที่ถูกจัดวางในหลายพื้นที่แล้วเป็นประเด็นว่าประชาชนมีการแย่งกันเอาสิ่ง ของภายในตู้ ในส่วน บช.น.ได้จัดตั้งตู้ปันสุขไว้ทั้งหมด 88 สน. อย่างไรก็ตาม ได้ประสานไปยังตำรวจท้องที่ และจิตอาสา เพื่อเข้าดูแลแล้ว โดยจะให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันไม่เกิดความขัดแย้งกันในเรื่องสิ่งของบริจาคต่อไป

ตม.เปิดโครงการทั่ว ปท.

วันเดียวกัน พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม.ยังได้เปิดตัวโครงการตู้ปันสุข สตม. Love&Share จะมีการนำไปวางตั้งไว้ตามสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลจัดระยะห่าง และขอให้ประชาชนหยิบแต่พอดี อย่าหยิบเผื่อคนอื่น เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบที่มีการแชร์คลิปวิดีโอ มีผู้คนกวาดสิ่งของหมดตู้หรือคนมาแย่งสิ่งของกัน สตม.มีความยินดีและเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สตม.ขอส่งกำลังใจ ไปถึงทุกคน โดยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ทุกฝ่าย จะช่วยให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกัน

ก.แรงงานตั้งตู้หน้าประตู 1

ส่วนที่ประตู 1 หน้ากระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน ร่วมเปิดตู้แรงงานปันสุข ภายใต้แนวคิด “หยิบได้แต่พอดี ถ้ามีเอามาแบ่งปัน” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า จัดทำตู้แรงงานปันสุขขึ้นมาเพื่อ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือในการแบ่งปันอาหาร อาหารว่าง เครื่องดื่ม รวมถึงเครื่องอุปโภค บริโภค ของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย จุดตั้งตู้อยู่ใกล้ รปภ. ไม่ห่วงเรื่องที่จะมีคนขนของจนหมดตู้เหมือนที่เป็นข่าว อยากจะให้คนที่มีความลำบาก และมีความจำเป็นจริงๆได้มาใช้ของในตู้ของกระทรวงแรงงาน จะมีเจ้าหน้าที่คอยนำอาหารและของใช้ต่างๆมาเสริมเมื่อของหมด

ตั้ง ฉก.เคาะคลายล็อกมาตรการ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 22/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค.เป็นประธาน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. และรองเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นรองประธาน โดยมีตัวแทน อาทิ กระทรวงยุติธรรม กฤษฎีกา อัยการสูงสุด ตัวแทนศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆใน ศบค. และนพ.อุดม คชินทร นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่จัดทำแนวทางผ่อนคลายมาตรการในทุกห้วงระยะเวลา 14 วันเสนอนายกฯ

“วิษณุ” ชี้คลายเฟส 2 ยังคุมทุกปัจจัย

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.10 น. วันเดียวกัน ถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมระยะที่ 2 ว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ประชุมพิจารณาเพื่อประเมินสถานการณ์ไว้รายงานต่อที่ประชุม ศบค.วันที่ 15 พ.ค. สรุปแล้วต้องพิจารณาเรื่องคน สถานที่ กิจกรรม ตัวเลขผู้ป่วยสะสม ผู้ที่รักษาหาย และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นดัชนีชี้วัด แต่อาจทำให้ไม่สบายใจไม่สามารถผ่อนคลายได้ทั้งหมด ยังมีการละเมิดข้อกำหนดที่ห้าม เช่น ละเมิดเคอร์ฟิว เดินทางข้ามจังหวัดแม้ไม่ได้ห้ามการเดินทางทำให้อันตรายมีโอกาสเสี่ยง ผู้เดินทางเข้าประเทศยังมีจำนวนมาก ตรงนี้ยังต้องคุมอยู่

แจงจุดอ่อนเลิกฉุกเฉินผู้ว่าฯไม่มั่นใจ

เมื่อถามถึงกรณีผู้ประกอบการต้องการให้ผ่อนคลายช่วงเวลาเคอร์ฟิว รองนายกฯ ตอบว่า เรื่องนี้ เขากำลังดูกันอยู่ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มองว่าจะยกเลิกได้ในระยะเวลาไหน หลังจากที่เห็นสถานการณ์โควิด-19 เบาลงนั้น เร็วไปที่จะพูดในขณะนี้ เพิ่งผ่านมาครึ่งเดือน พ.ค. อีกครึ่งเดือนกว่าจะถึงวันที่ 31 พ.ค. ยังตอบอะไรไม่ได้ในตอนนี้ แต่เคอร์ฟิวต้อง ใช้ควบคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายอย่างใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ จุดอ่อน พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาล นายกฯและรัฐมนตรี เป็นการให้อำนาจ ผวจ.หาก 77 จังหวัดรวมทั้ง กทม.ใช้มาตรการคนละมาตรฐานกันจะลำบาก ขณะเดียวกัน ผวจ.เองก็ไม่มีความมั่นใจที่จะสั่งปิดหรือเปิด ถ้าไปสั่งปิดแล้วเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ คนวิ่งมาขอความช่วยเหลือรัฐบาลกลางจังหวัดเยียวยาไม่ได้ตรงนี้ทำให้ ผวจ.ไม่มีความมั่นใจ วันนี้รัฐบาลกลางมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินสั่งการได้ทีเดียวทั่วประเทศ หาก ผวจ.สั่งปิดกิจการทำให้ได้รับผลกระทบต่อประชาชนจะให้กระทรวงการคลังมาเยียวยาคงไม่เยียวยาให้ ตรงนี้คือช่องว่างหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พบร้านตัดผมตกเกณฑ์ 63%

อีกด้านหนึ่ง ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภายหลังผ่อนปรน 6 กิจกรรมไปแล้ว ขณะนี้กรมอนามัยได้สำรวจ 2 ประเภทกิจการคือ ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย และร้านตัดขนสัตว์เลี้ยง ทั่วประเทศ เพื่อดูว่าทำตามหลักสุขอนามัย การเว้นระยะห่าง และความสะอาดทั่วไปตามหลักสุขาภิบาล และประเมินผลเพื่อเฝ้าระวังและการแพร่ระบาด ผลออกมาอาจจะไม่ค่อยดีนัก ในส่วนของร้านตัดผมพบว่า ตกเกณฑ์ 63% ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 9% ทำได้ดีเยี่ยม 27% โดยการตกเกณฑ์เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถือว่ายังจำเป็น เพราะเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดยังทำได้ดีอยู่ ขณะนี้อนุญาตให้ทำได้เฉพาะตัด สระ ไดร์ ยังไม่อนุญาตให้ทำอย่างอื่น เพราะยังมีความเสี่ยง

ไม่บันทึกข้อมูลคนใช้บริการ

รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเงื่อนไขบางอย่างทำให้ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่สะดวก โดยเฉพาะการบันทึกรายละเอียดของคนมารับบริการ ทำให้ตกเกณฑ์ไปค่อนข้างเยอะ เป็นประเด็นที่ต้องใช้ในการสืบสวนในภายหลัง หากเกิดปัญหาจะได้มีการติดตามได้ แต่วันนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร เป็นเรื่องที่ต้องให้คำแนะนำ ประการต่อมาคือ การคัดกรองของพนักงาน ก็ตกเกณฑ์ 30% ส่วนการสวมเฟซชิลด์ หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ตกเกณฑ์ 15% สรุปการตกเกณฑ์คือบันทึกข้อมูล ส่วนสุขอนามัยอื่นๆถือว่าทำได้ดี

เสริมสวยยังห้ามนวดหน้าตัดเล็บ

นพ.ดนัยกล่าวต่อว่า ส่วนผลการสำรวจร้านตัดขนสัตว์ รับฝากสัตว์เลี้ยง ถือว่าสัตวแพทย์และผู้ให้บริการทำได้ค่อนข้างดี ดีเยี่ยม 40% ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 7% ส่วนยังไม่ผ่านเกณฑ์อยู่ที่ 53% ที่ตกเกณฑ์เป็นเรื่องการคัดกรองพนักงาน และคนให้รับบริการถึง 1 ใน 4 หรือ 25% การสวมเฟซชิลด์ตกเกณฑ์ 16% การเว้นระยะห่างตกเกณฑ์ 16% โดยรวมทั้ง 2 กิจการ ได้รับความร่วมมือดีจากประชาชน หวังว่าที่ยังไม่ผ่านนั้น ถ้าได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะมาตรการบางอย่างในส่วนของการเสริมสวย ตัดผม อาจจะอนุญาตให้ทำอย่างอื่นได้มากขึ้น นอกเหนือจากตัด สระ ไดร์ จะเสนอต่อ ศบค.พิจารณาต่อไป มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายแบบเต็มรูปแบบในกิจการร้านตัดผม และจำเป็นต้องรักษาคุณภาพการให้บริการ และการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไร ก็ตาม ขอย้ำว่าตอนนี้บริการตัดเล็บ นวดหน้าในร้านเสริมสวยนั้นยังไม่อนุญาต

ยังแห่ร้องทุกข์เยียวยา 5 พัน

ส่วนที่ลานจอดรถ กรมประชาสัมพันธ์ บรรยากาศการเปิดโต๊ะรับเรื่องร้องทุกข์ในการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ยังมีประชาชนเดินทางมาอย่างหนาแน่น โดยช่วงเช้ามีประชาชนมายื่นเรื่องร้องทุกข์ถึง 2,000 คน มีกรณีที่น่าสนใจ คือมีหญิงสูงวัยประกอบอาชีพค้าขาย มาร้องทุกข์เนื่องจากลูกสะใภ้ 2 คนทะเลาะกันเรื่องลงทะเบียนเงิน 5,000 บาท โดยลูกสะใภ้คนหนึ่งได้กดสละสิทธิ์การลงทะเบียนของหญิงรายนี้ ทั้งที่หญิงสูงวัยลงทะเบียนผ่านและได้รับเงิน 2 เดือน (เม.ย.-พ.ค.) เป็นเงิน 10,000 บาทแล้ว กลัวว่าจะไม่ได้รับเงินในเดือนถัดไป เจ้าหน้าที่อธิบายว่า หญิงรายนี้ยังจะได้รับเงิน 5,000 บาทในเดือนถัดไปตามเดิม แม้จะกดปุ่มยกเลิกสิทธิ์ในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เนื่องจากหญิงสูงวัยเป็นผู้ที่ผ่านเกณฑ์ อีกทั้งกรณีนี้เกิดจากเหตุทะเลาะวิวาทในครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีหญิงสาวอีกรายประกอบอาชีพค้าขาย มาร้องทุกข์เนื่องจากลงทะเบียนไม่ผ่าน โดยระบบระบุว่าบัตรประชาชนมีปัญหา แม้จะลงใหม่แต่ก็ยังลงไม่ได้ กรณีนี้เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นเพราะหญิงสาวรายนี้ลงทะเบียนซ้ำหลายครั้ง ระบบจึงคัดชื่อออก ต้องรอการช่วยเหลือหลังจากปิดโครงการแล้ว

ยันอาทิตย์นี้จะจ่ายให้ครบ 14 ล. คน

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขาฯรมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันที่ 13 พ.ค.63 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้ามาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ล่าสุดมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาแล้ว 14.4 ล้านคน ในสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินเยียวยาให้ครบ 14 ล้านคน จากปัจจุบันจ่ายไปแล้วเกิน 12 ล้านคน

เผยยอดยื่นทบทวนสิทธิ์ 6.5 ล. คน

นายธนกรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในส่วนของการทบทวนสิทธิ์ที่ปิดรับทบทวนสิทธิ์เมื่อวันที่ 10 พ.ค. มียอดลงทะเบียนทบทวนสิทธิ์ทั้งหมด 6.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ผ่านเกณฑ์แล้ว 4.5 ล้านคน ส่วนที่เหลือจะให้ผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล รมว.คลังสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบข้อมูลให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 17 พ.ค.63 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากที่ทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่พบว่า ผู้ยื่นทบทวนสิทธิ์ประมาณ 70,000-80,000 คน มีที่อยู่ปัจจุบัน ไม่เหมือนกับที่แจ้งในการลงทะเบียนทบทวนสิทธิ์ หรือเป็นคนละจังหวัดกัน ดังนั้นคนกลุ่มนี้กระทรวงการคลังจะหาวิธีการทบทวนสิทธิ์ให้ต่อไป

หาวิธีช่วยผู้ตกหล่นหลัง 17 พ.ค.

เลขาฯ รมว.คลังกล่าวอีกว่า ขณะที่การเปิดรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.-12 พ.ค.63 มียอดผู้มายื่นร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 15,000 คน ในจำนวนนี้ ได้แยกแยะปัญหาออกเป็นหมวดหมู่และแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว ส่วนเรื่องใดที่เกี่ยวกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ให้นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประสานไปที่ พม.แล้ว ขณะที่การช่วยเหลือกลุ่มที่ตกหล่น ชายขอบ คนไร้บ้าน และคนสูงอายุนั้น จะดำเนินการหลังจากจบโครงการในวันที่ 17 พ.ค.63 และจะรีบหาทางช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด ส่วนการลงทะเบียนรอบ 2 นั้นยังไม่มีการหารือ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้มีประชาชนมาร้องทุกข์จำนวนกว่า 2,000 คน มีปัญหาเดิมๆ คือ ลงทะเบียนไม่สำเร็จ กลุ่มนี้มีประมาณ 1.7 ล้านคน และบัญชีไม่ตรงกับที่ลงทะเบียนประมาณ 1 ล้านคน แนะนำให้ผู้ลงทะเบียนเปิดบัญชีพร้อมเพย์ จะได้รับเงินโอนเข้ารวดเร็ว

ผ่านเกณฑ์รับเงินแล้ว 14.4 ล. คน

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในแต่ละวันกระทรวงการคลังจะทยอยจ่ายเงินให้กับผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาเป็นรอบๆ ปัจจุบันมีผู้ผ่านเกณฑ์ 14.4 ล้านคน ส่วนในวันที่ 15 พ.ค. จะโอนเงินให้อีก 700,000 ราย ที่ผ่านเกณฑ์รับเงินแล้วแต่บัญชีมีปัญหา และได้แก้ไขบัญชีใหม่เรียบร้อยแล้ว และจะเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ให้แล้วเสร็จถึง 99% ภายในวันที่ 17 พ.ค.นี้

ลูกจ้าง รง.ถุงเท้าร้องถูกลอยแพ

อีกด้านหนึ่ง ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.สุรินทร์ พิมพา อายุ 62 ปี ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง นำตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของ บริษัท นครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด จ.นครปฐม รวม 10 คน มีนางวา วา ทวย อายุ 30 ปี แรงงานชาวเมียนมา ตั้งท้อง 4 เดือน ร่วมเข้าพบนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ขอความช่วยเหลือลูกจ้างกว่า 180 คน ถูกนายจ้างลอยแพไม่จ่ายค่าจ้างกว่า 2 เดือน อ้างผลกระทบจากโควิด-19 และยังถูกบริษัทหักเงินเดือนแต่ไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้างทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิช่วยเหลือรักษาพยาบาล โดยกลุ่มแรงงานมีการนำปิ่นโตใส่ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาและกระติ๊บข้าวเหนียว มานั่งจกกินกับไข่ต้มหน้าห้องประชุมชั้น 5 ก่อนเข้าพบนายอภิญญา เพื่อสื่อให้เห็นว่าลูกจ้างกำลังจะอดตาย

ให้แรงงานนครปฐมตรวจสอบ

ด้านนายอภิญญากล่าวว่า มอบหมายให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐมไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะนี้ถือว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ที่หยุดงานโดยไม่แจ้งภายใน 3 วัน ส่วนเงินสมทบประกันสังคมที่นายจ้างหักไว้ แต่ไม่นำส่งประกันสังคม ให้ลูกจ้างทำให้ขาดสิทธิในกรณีชราภาพ รวมทั้งเงินสะสมที่นายจ้างและลูกจ้างได้ทำข้อตกลงร่วมกันสะสมเงินไว้ให้ลูกจ้างหลังเกษียณอายุ หรือออกจากงานแต่นายจ้างไม่จ่ายให้จะต้องไปพูดคุยกันเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิ หากนายจ้างจะเลิกจ้างต้องมีความชัดเจนและต้องจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด

โอนแล้วงบ 1.5 แสน ล.ช่วยเกษตรกร

ส่วนเรื่องการเยียวยาเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเดียวกัน ที่กระทรวงเกษตรฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงผ่านบัญชี 5,000 บาท ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 63 กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด รวมวงเงิน 150,000 ล้านบาท ใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้โอนงบประมาณให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) 150,000 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว

15 พ.ค.เยียวยารอบแรก 1 ล.คน

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า รอบแรก สศก. จ่ายเช็คให้ ธ.ก.ส. ในวันที่ 13 พ.ค.63 จำนวน 25,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จะจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เกษตรกร รอบแรกในวันที่ 15 พ.ค.จำนวน 1 ล้านราย เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท ส่วนรอบต่อไป สศก.จะโอนเงินเข้า ธ.ก.ส.ในวันที่ 20 พ.ค. หลังจากนั้นจะจ่าย ให้กับ ธ.ก.ส. ทุกอาทิตย์ รวม 6 งวด แต่ละงวดจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรต่อไปทุกวัน วันละ 1 ล้านราย ในกรณี เกษตรกรที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. สามารถแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารอื่นๆได้ โดยเตรียมหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารอื่น และเข้าไปที่เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com 

หักซ้ำซ้อนแล้วมีสิทธิรับ 6.77ล.ราย

ขณะที่นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยหลังหารือกับกระทรวงการคลังว่า ผลการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาล่าสุด จากจำนวน 8.33 ล้านราย หลังจากหักความซ้ำซ้อนแล้ว เหลือผู้ที่ผ่านสิทธิได้รับเงินเยียวยา 6.77 ล้านราย ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้ สำหรับผลการตรวจสอบความซ้ำซ้อนที่พบ แบ่งออกเป็น ซ้ำซ้อนกับฐานประกันสังคม 329,114 ราย ซ้ำซ้อนทะเบียนข้าราชการบำนาญ 84,471 ราย ซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว 96,677 ราย นอกจากนี้ยังมีทะเบียนเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการประจำ 91,426 ราย รวมที่ซ้ำซ้อนทั้งสิ้น 601,688 ราย อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 1-15 พ.ค.นี้ แต่ละหน่วยงานจะส่งข้อมูลให้ สศก.ในวันที่ 22 พ.ค.และ สศก. ส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.ภายในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เพื่อจ่ายเงินให้เกษตรกรต่อไป และหลังการเริ่มจ่ายเงินจะเปิดช่องทางการอุทธรณ์สำหรับผู้ไม่ได้รับเงินเยียวยาด้วย

พบ ขรก.ทำเกษตรเสริมขอรับสิทธิ

นายระพีภัทร์กล่าวต่อไปว่า พร้อมกันนี้ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทบทวนสิทธิเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะหากยึดมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 กลุ่มข้าราชการประจำที่ทำการเกษตร และมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว จะได้รับสิทธิเงินเยียวยานี้ เนื่องจากมติ ครม.เดิมไม่ได้เขียนไว้ว่าไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา จำเป็นต้องขอทบทวนสิทธิของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องไม่รวมถึงข้าราชการประจำ ไม่เช่นนั้นข้าราชการซึ่งทำการเกษตร และลงทะเบียนทำการเกษตรเป็นอาชีพที่ 2 ไว้ด้วย ตรวจพบมีจำนวนมากพอสมควร และมายื่นขอรับเงินเยียวยาไว้จำนวนหนึ่ง จะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐไปด้วย ทั้งๆที่มีรายได้ประจำตามปกติอยู่แล้ว

ประกันสังคมเปิดยื่นอุทธรณ์ 18 พ.ค.

ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การจ่ายเงินชดเชยว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขณะนี้มีจ่ายไปกว่า 7 แสนคนแล้ว ที่เหลืออีกประมาณ 2 แสนคน จะให้จบในวันที่ 15 พ.ค. คนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ตามที่ยื่นขอ จะเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 18 พ.ค.ที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่งคาดว่าจะมีประมาณ 1 แสนคนที่ข้อมูลยังไม่ครบ เพราะนายจ้างยังไม่รับรองการหยุดงาน

ล่อซื้อแก๊งจีนขายแมสก์เกินราคา

ส่วนการจับกุมผู้กระทำความผิดกักตุนสินค้าเวชภัณฑ์โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยยังมีอยู่ โดยวันเดียวกันนี้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. แถลงจับกุมนายอาแพ่ะ อายุ 39 ปี ชาวจีน หลังตรวจค้นบ้านพักในซอยรัชดา 13 แขวงและเขตดินแดง กทม. พบหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น สอบสวนรับว่า สั่งซื้อมาจากเพื่อนชาวจีนเพื่อนำมาขายให้กับลูกค้าในประเทศไทย พร้อมขยายผลให้นายอาแพ่ะสั่งซื้อหน้ากากอนามัยเพิ่มเติมจากเพื่อนชาวจีนอีก 24,000 ชิ้น ในราคาชิ้นละ 11 บาท นัดรับสินค้ากันที่ลานจอดรถ ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 11 ขยายผลจับกุมนายอาหลู่ อายุ 39 ปี และ น.ส.บี อายุ 38 ปี ทั้งคู่ให้การรับสารภาพ ลอบจำหน่ายหน้ากากอนามัยให้กลุ่มลูกค้าสูงเกินราคาจริงดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในข้อหา “ขายเกินราคาควบคุม” “ไม่ปิดป้ายแสดง ราคาขาย” มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และ “ขายแพงเกินสมควร” หลังจากนี้จะขยายผลไปถึงนายทุน เพราะถือเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน แทนที่จะได้ซื้อสินค้ามีคุณภาพและราคาถูก

หน.ศปม.ตรวจท่าเรือแหลมฉบัง

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงสายวันเดียวกัน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) นำคณะตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานที่สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล พร้อมรับทราบการปฏิบัติในด้านการตรวจคัดกรองของด่านควบคุมโรคสำหรับช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จากนั้นเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้า Makro Food Service และห้างสรรพสินค้า Harbor Mall เพื่อรับทราบการปฏิบัติงานของชุดตรวจร่วมตามมาตรการผ่อนคลายประจำพื้นที่ ภายหลังได้รับการผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการได้ ทั้งนี้ ชลบุรีเป็นพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ มีท่าเรือพาณิชย์ระดับมาตรฐานสากล มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องจัดชุดตรวจร่วมตามมาตรการผ่อนคลายเพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่ความร่วมมือในการปฏิบัติ ทั้งยังเป็นการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ทอ.เปิดตัวแอปตั้งการ์ดสู้โควิด

ขณะที่ พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย รองเสนาธิการ ทอ. และโฆษก ทอ. กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.อ.มานัตวงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. มอบหมายให้ทีมนักวิจัยจากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช พัฒนาแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือติดตามผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในโครงการ “กองทัพอากาศร่วมตั้งการ์ดสู้ COVID-19” เพื่อเป็นเครื่องมือตรวจสอบลดความเสี่ยงและจำกัดวงการติดเชื้อให้แก่กำลังพลและครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่สนใจ การใช้แอปดังกล่าวจะสามารถรับรู้ได้ว่า มีใครเข้าใกล้ในระยะ 10 เมตร ย้อนหลัง 14 วัน เมื่อผู้ใช้แอปกดปุ่มแจ้งยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานแอปคนอื่น ที่เคยอยู่ใกล้ชิดเพื่อให้สังเกตอาการกักตัวเองหรือไปพบแพทย์ ทดลองติดตั้งใช้งานแอป “AIR TRACK” ได้บนระบบปฏิบัติการ Android ที่ http://demo.infovention.com/rtaf/airtrackv2.apk (copy วางบน browser) ศึกษารายละเอียดการติดตั้งและคู่มือได้ในเว็บไซต์กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ (https://dict.rtaf.mi.th/index.php/2017-02-01-02-07-02/2017-02-01-02-09-19/download-book-law-5) และจะพัฒนาใช้งานในระบบ IOS ต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "เยียวยาเกษตรกร"