สภา กทม. ตั้ง คกก.วิสามัญศึกษา กรณี กทม.เสนอขอใช้งบสะสมจ่ายขาด 8 พันล้าน ก่อนพิจารณาให้ความเห็นชอบที่อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 (ดินแดง) เมื่อวันที่ 22 เม.ย. เวลา 10.00 น. นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2563 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ทั้งนี้ กทม.ได้ยื่นญัตติ เรื่องกรุงเทพมหานครขอความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร จำนวน 8,000 ล้านบาท ซึ่งได้เลื่อนการพิจารณาจากการประชุม สภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2563 โดย กทม.ระบุว่า มีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดเป็นการเร่งด่วน เพื่อใช้บริหารจัดการกิจการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับด้านการโยธาและระบบจราจร ด้านการบริหารทั่วไป ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาและบริการสังคม ด้านการสาธารณสุขและเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจุบัน กทม.มียอดเงินสะสมหลังจากหักภาระผูกพันและกันสำรองไว้ใช้จ่ายตามกฎหมาย เป็นจำนวน 38,131,232,090.44 บาท (สามหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสามสิบเอ็ดล้านสองแสนสามหมื่นสองพันเก้าสิบบาทสี่สิบสี่สตางค์) ขณะที่การจ่ายขาดเงินสะสมต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม.ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จำนวนเงินกว่า 8 พันล้านที่ กทม.เสนอขอความเห็นชอบจากสภา กทม.ในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในภารกิจสำคัญ และนำไปใช้ในการบริการชุมชนและสังคม รวมทั้งสมทบงบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่ง กทม.ได้นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภา กทม.ได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นหลากหลาย อาทิ เห็นด้วยให้เร่งจ่ายงบดังกล่าวเพราะบางโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนและงบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกัน มีบางโครงการไม่เข้าเงื่อนไขการขอใช้เงินสะสมจ่ายขาด ที่ประชุมสภา กทม.จึงมีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาญัตติดังกล่าวก่อนรับหลักการ เพื่อให้การดำเนินโครงการที่ได้เสนอมามีความถูกต้อง ครบถ้วน เหมาะสม และสามารถสนับสนุนการทำงานของ กทม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 19 ท่าน กำหนดระยะเวลาศึกษา 30 วัน.